นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – กันยายน 2560) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,350,590 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,590 ล้านบาท มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีรถยนต์
สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,792,896 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 74,104 ล้านบาท หรือ 4.0% แต่ยังสูงกว่าปีก่อนจำนวน 34,949 ล้านบาท หรือ 2.0% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 742,199 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 47,801 ล้านบาท หรือ 6.1% แต่สูงกว่าปีก่อน 3.6%
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 39,389 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,611 ล้านบาท หรือ 38.5% และต่ำกว่าปีก่อน 14.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยของปี 2559 ต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 314,892 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,808 ล้านบาท หรือ 2.4% และต่ำกว่าปีก่อน 1.3% เป็นผลมาจากการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ทำให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายของรัฐบาลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 13,978 ล้านบาท หรือ 2.3% โดยสูงกว่าปีก่อน 3.5% เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) และภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 562,365 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,465 ล้านบาท หรือ 2.3% และสูงกว่าปีก่อน 8.6% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 22,885 ล้านบาท หรือ 11.8% สูงกว่าปีก่อน 22.1% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ ภาษีรถยนต์และภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,655 และ 1,196 ล้านบาท หรือ 2.7% และ 1.4% ตามลำดับ
3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 104,785 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,715 ล้านบาท หรือ 13.0% และต่ำกว่าปีก่อน 6.1% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 16,786 ล้านบาท หรือ 14.2% และต่ำกว่าปีก่อน 6.9% เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรระยะที่ 2 สูงกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้มูลค่าต้องอากรของสินค้าที่มีสัดส่วนอากรขาเข้าสูง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เป็นต้น
4.รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 162,265 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 31,265 ล้านบาท หรือ 23.9% และสูงกว่าปีก่อน 21.3% ซึ่งเป็นผลจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้าและบางแห่งมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ. ปตท. (PTT) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โรงงานยาสูบ และบมจ. กสท. โทรคมนาคม
5.หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 169,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 37,400 ล้านบาท หรือ 28.4% แต่ต่ำกว่าปีก่อน 42.2% ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้รวม 158,535 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 32,995 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน แต่ต่ำกว่าปีก่อนจำนวน 126,840 ล้านบาท หรือ 44.4% เนื่องจากในปีก่อนมีรายได้พิเศษ เช่น การนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) การรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) การชำระภาษีพนันของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 10,465 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,405 ล้านบาท หรือ 72.7% และสูงกว่าปีก่อน 54.8% เนื่องจากรายได้จากที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการ 3,834 ล้านบาท หรือ 73.7% สาเหตุมาจากการปรับปรุงค่าเช่าสนามบินของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และการเปิดประมูลให้ใช้ที่ในท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้ รายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 572 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.0
6.การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 288,475 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,125 ล้านบาท หรือ 3.7% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 207,696 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 37,204 ล้านบาท หรือ 15.2% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 80,779 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,079 ล้านบาท หรือ 47.7%
7.อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 10,110 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 110 ล้านบาท หรือ 1.1%
8.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 15,305 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,095 ล้านบาท หรือ 12.0%
9.เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 18,152 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 848 ล้านบาท หรือ 4.5% 10.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 2560 เป็นเงิน 108,679 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,321 ล้านบาท หรือ 2.1%
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 224,408 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,514 ล้านบาท หรือ 5.4% สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4.8% เป็นผลจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 8,964 และ 7,385 ล้านบาท หรือ 114.2% และ 134.4% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 3,191 2,550 และ 2,096 ล้านบาท หรือ 38.4% 2.3% และ 13.4% ตามลำดับ
“จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลของกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2560 เป็นไปตามเป้าหมาย โดยกระทรวงการคลังคาดว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2561 จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป" นายสุวิชญ กล่าว