กสิกรฯ แนะจับตาแรงฟื้นตัวสินเชื่อ Q4/60 จะชดเชยการชะลอตัวช่วง 3 ไตรมาสแรกได้แค่ไหน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 27, 2017 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มสินเชื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และโอกาสการฟื้นตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอี ประกอบกับความต้องการสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่าการฟื้นตัวดังกล่าวจะเพียงพอชดเชยการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสก่อนหน้าเพียงใด ซึ่งจะบ่งชี้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นได้ตามคาด และสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ดีกว่าที่คาดไว้หรือไม่

ในขณะที่การเติบโตของสินเชื่อสุทธิในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ไตรมาส 3/60 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน ขยายตัว 1.16% ซึ่งชะลอลงจากไตรมาส 2/60 ที่ขยายตัว 1.56% ท่ามกลางการชำระคืนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และการชะลอตัวต่อเนื่องของสินเชื่อเอสเอ็มอี

ส่วนด้านเงินฝาก ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องของธนาคาร แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะมีผลิตภัณฑ์การออมอื่นที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเข้ามาเป็นคู่แข่งก็ตาม โดยคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะบริหารการเติบโตของเงินฝากให้อยู่ในระดับเพียงพอกับความต้องการสินเชื่อ แต่ไม่เป็นภาระต่อต้นทุนทางการเงิน เพื่อประคองภาพรวมผลการดำเนินงานที่ดี

สำหรับการสรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ย.60 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) ปรากฎว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย 1.1 หมื่นล้านบาท เป็น 10.726 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่ม 0.1% MoM ขณะที่อัตราเพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อนชะลอลงมาที่ 2.15% YoY จากระดับ 2.78% YoY ในเดือน ส.ค. แต่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนมาที่ 1.16% YTD เนื่องจากยังมีการชำระคืนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอียังชะลอตัว จึงกดดันให้สินเชื่อในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีอัตราเติบโตดี ตามทิศทางสินเชื่อรายย่อยที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนสินเชื่อในกลุ่มธนาคารขนาดกลางค่อนข้างทรงตัว

ภาพรวมเงินฝาก ลดลงจากเดือนก่อน 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 0.15% เป็น 11.70 ล้านล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 4.91% YoY และ 3.01% YTD โดยการลดลงส่วนใหญ่กระจายไปทุกกลุ่มธนาคาร ยกเว้นในบางธนาคารที่มีสภาพคล่องต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่ในเดือนนี้ที่มีจำนวนน้อยกว่าเงินฝากที่ครบกำหนด โดยมีประเด็นหลักในการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภาระการกันสำรองหนี้เสีย (Credit Cost) ที่ยังทรงตัวจากระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้น ตามการลดลงของเงินฝากที่สวนทางกับสินเชื่อ ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ปรับขึ้นมาที่ 91.23% จากระดับ 90.59% ในเดือน ส.ค. สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับลดลงเป็นระดับ 21.52% จาก 21.63% ในเดือนก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ