นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเร่งประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ ตอกย้ำเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของไก่ไทยสู่ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคญี่ปุ่นต่างยินดีจ่ายในราคาสูงกว่าเพื่อให้ได้รับสินค้าที่คุณภาพเชื่อถือได้ โดยปัจจุบัน ไก่สด/แช่แข็งและไก่แปรรูปเป็นสินค้าอาหารที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้า เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ สินค้าไก่สด/แช่แข็งและไก่แปรรูปจึงมักจะเป็นรายการสินค้าที่ญี่ปุ่นยินยอมเปิดตลาดด้วยการลดภาษีนำเข้าในการเจรจากับประเทศคู่ค้า ในส่วนของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ญี่ปุ่นได้ลดภาษีนำเข้าไก่สด/แช่แข็งและไก่แปรรูปที่นำเข้าจากไทยลง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของสินค้าไก่จากประเทศไทย นอกจากนั้นแล้ว ไก่สด/แช่แข็งและไก่แปรรูปยังมีจุดแข็งในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยการผลิตเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ค้า ผู้นำเข้าและสมาคมนำเข้าสัตว์ปีกแห่งญี่ปุ่น รวมทั้งกำลังการผลิตที่สามารถรองรับความต้องการซื้อปริมาณมากได้ โดยสามารถป้อนตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ เหตุผลเหล่านี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นเพิ่มการสั่งซื้อจากไทยได้มากขึ้น ซึ่งหากเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในระดับผู้บริโภคอีกทางหนึ่งแล้ว ย่อมส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ระบุว่า “ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นบริโภคไก่ปีละประมาณ 2.1 – 2.5 ล้านตัน แบ่งเป็นผลิตได้เองในประเทศปีละ 1.4 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 65 – 70 และนำเข้าปีละ 950,000 – 1,000,000 ตัน ความต้องการนำเข้าไก่สดและไก่แปรรูปในญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 เนื่องจากสาเหตุหลายปัจจัย ได้แก่ การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในแหล่งผลิตไก่สำคัญของญี่ปุ่น และภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ประกอบกับภาวะปนเปื้อนจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้ทำลายฟาร์มปศุสัตว์ในหลายจังหวัดและแหล่งอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นลังเลที่จะบริโภคเนื้อวัว เนื้อสุกร และอาหารทะเล อุตสาหกรรมอาหารของญี่ปุ่นจึงได้มีการนำเข้าเนื้อไก่เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ความต้องการเนื้อไก่สดและแปรรูปมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2554 ทั้งนี้ ตลาดไก่ในญี่ปุ่นจำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ 1) ไก่สดแช่แข็งสำหรับใช้ในภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหารและจำหน่ายปลีกในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อใช้ปรุงอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน และ 2) ไก่แปรรูป สำหรับธุรกิจภัตตาคาร อุตสาหกรรมพร้อมรับประทาน และจำหน่ายเป็นอาหารแช่แข็ง ทั้งนี้ญี่ปุ่นต้องการกระจายแหล่งนำเข้าไก่สดแช่แข็ง เพราะไม่ต้องการพึ่งพาแหล่งผลิตใดเพียงแหล่งเดียว ในปี 2559 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ปริมาณรวม 973,356.7 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่า 3,049.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม – สิงหาคม) ของปี 2560 ญี่ปุ่นนำเข้าปริมาณ 662,899.4 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 คิดเป็นมูลค่า 2,235.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ด้านชนิดของไก่ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามากที่สุดในปี 2559 ได้แก่ ไก่สดหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง โดยบราซิลครองส่วนแบ่งตลาดไก่ชนิดนี้สูงถึงร้อยละ 70 ในขณะที่การนำเข้าจากไทยมีสัดส่วนร้อยละ 26.6 รองลงมาคือสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนร้อยละ 3.4 และฟิลิปปินส์ร้อยละ 0.4 อันดับที่สองคือไก่แปรรูป โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 63.3 รองลงมาได้แก่ จีนร้อยละ 36 และบราซิลร้อยละ 0.3 และอันดับที่สามคือไก่สดทั้งตัวแช่แข็ง โดยบราซิลครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ร้อยละ 70.5 แหล่งนำเข้าไก่สดทั้งตัวแช่แข็งอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลียร้อยละ 21.8 ไทยร้อยละ 3.5 และอาร์เจนตินาร้อยละ 1.5
สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม – สิงหาคม) มีมูลค่ารวม 1,817.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 1 มูลค่า 1,033.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร มูลค่า 330.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 82.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกาหลีใต้ มูลค่า 58.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสปป.ลาว มูลค่า 57.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ