นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นฐานะการคลังของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2560 ที่รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2.34 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2.89 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 5.52 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.23 แสนล้านบาท สะท้อนว่าฐานะ การคลังในปีงบประมาณ 2560 ยังคงมีความเข้มแข็ง โดยมีระดับเงินคงคลังมากกว่า 500,000 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 82,000 ล้านบาท โดยมีประเด็นชี้แจง ดังนี้
1. การจัดทำงบประมาณประจำปี 2560 รัฐบาลได้มุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องและเพิ่มงบลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยมีโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้ ประมาณการรายรับ 2,370,078 ล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 2,923,000 ล้านบาท และกู้เงินชดเชยการขาดดุล 552,922 ล้านบาท
2. การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลนั้น ต้องดำเนินการโดยวิเคราะห์จากประมาณการรายรับจากการจัดเก็บรายได้ และแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นหลักการสำคัญ เพื่อให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องทั้งจำนวนเงินที่ต้องดำเนินการกู้และช่วงเวลาที่ต้องการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เงินกู้นั้นมีจำนวนที่เพียงพอสามารถรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในเวลาที่ต้องใช้จ่ายจริง โดยในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงการคลังได้จัดทำแผนการกู้เงินตลอดทั้งปี โดยแยกเป็นไตรมาสได้ ดังนี้ ไตรมาสที่ 1 จำนวน 104,187 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2 จำนวน 191,405 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 จำนวน 134,090 ล้านบาท และไตรมาสที่ 4 จำนวน 123,240 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ระดับเงินคงคลัง ณ ขณะใดขณะหนึ่งเป็นเพียงเงินสดในมือของรัฐบาลที่มีไว้เพื่อรองรับการใช้จ่ายเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนการบริหารจัดการเงินคงคลังที่แท้จริงที่ต้องพิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่องในรูปของกระแสเงินรับจ่ายที่มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมากกว่าการมองระดับเงินคงคลังเพียงอย่างเดียว
3. การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2560 ได้ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 5.52 แสนล้านบาท เป็นไปตามกรอบวงเงินกู้ขาดดุลตามที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 กำหนดไว้ทุกประการ นอกจากนี้ การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการลงทุนภาครัฐในขณะที่ภาคเอกชนได้ชะลอการลงทุน จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ขยายตัวอยู่ในระดับ 3.6% ต่อปี