สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือนก.ย.60 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการขยายตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวในอัตราเร่งมากขึ้น ส่วนด้านอุปทานยังขยายตัวได้ดีทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
"การฟื้นตัวที่กระจายตัวมากขึ้นช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/60 ขยายตัวได้ดี โดยมีการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องยนต์หลัก เสริมด้วยการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ในขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง" สศค.ระบุ
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย.60 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 2.0% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/60 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 5.9% ต่อปี เช่นเดียวกับ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และขยายตัวสูงถึง 14.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 11.2% ต่อปี
สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.4% ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 62.5 โดยมีปัจจัยมาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ไตรมาสที่ 3/60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.4
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวในอัตาราเร่งมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.4% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 3/60 ขยายตัว 8.2% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวสูงถึง 26.6% ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 23.8% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/60 ขยายตัว 12.8% ต่อปี
ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.9% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/60 ขยายตัวเช่นกันที่ 3.5% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.2% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้น 19.2% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ 3.0% ต่อปี
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยขยายตัวที่ 12.2% ต่อปี หมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเชื้อเพลิง เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 จีน CLMV ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัว 9.7% ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่สนับสนุน เช่น วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน ทองคำ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ส่งผลทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไตรมาส 3/60 มูลค่าการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ 7.0% ต่อปี จากหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง รวมถึงหมวดปศุสัตว์ และ หมวดประมงที่ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ส่งผลทำให้ไตรมาส 3/60 ขยายตัว 11.9% ต่อปี
ด้านนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.56 ล้านคน ขยายตัว 5.7% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากจีน เกาหลี กัมพูชา และอินเดีย เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาส 3/60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 8.78 ล้านคน ขยายตัว 6.4% ต่อปี
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 86.7 โดยได้รับปัจจัยบวกทั้งจากความเชื่อมั่นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้ไตรมาส 3/60 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 85.2
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.9% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.5% ต่อปี อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ส.ค.60 อยู่ที่ระดับ 41.9% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60%
นอกจากนี้ เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ย.60 อยู่ที่ระดับ 199.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.4 เท่า