น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 60 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0 – 4.0% ปรับเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมิ.ย.60 ที่คาดว่า GDP การเกษตรทั้งปี 60 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 60 ที่สภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลขมา พบว่าสาขาเกษตรขยายตัวได้ในระดับสูงอยู่ที่ 10.3% ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 60 ภาคเกษตรก็น่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 5.0%
"ตัวเลขคาดการณ์ GDP ภาคเกษตรที่ 3.0-4.0% เราคาดการณ์บนฐานที่ต่ำ ซึ่งเราคิดว่าจะเติบโตได้สูงกว่านี้ แต่ก็ไม่อยากจะคาดการณ์ให้มากจนเกินไป เนื่องจากปัจจัยน้ำท่วมในขณะนี้อาจจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสที่ 4" น.ส.ทัศนีย์ กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าทุกสาขาการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับมีแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 60 ที่มีทิศทางดีขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ภาคเกษตรในปีนี้เติบโตได้ดี
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 ปี 60 (ก.ค.– ก.ย.60) ขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 59 ซึ่งแม้ว่าในช่วงปลายเดือนก.ค.ถึงต้นเดือนส.ค.60 หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลจากพายุ “เซินกา" ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย อาทิ ข้าวนาปี และมันสำปะหลัง แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าพืชอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในไตรมาส 3 เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไย มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ประกอบกับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน ในส่วนของสาขาประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงและสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือภาคใต้ลดลง ขณะที่การผลิตสัตว์น้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางเพิ่มขึ้น
ซึ่งเมื่อหากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัว 7.4% โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และเงาะ โดย ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากในช่วงฤดูเพาะปลูก มีฝนตกตามปกติ และปริมาณน้ำฝนสูงค่ากว่าเฉลี่ยในทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ตามฤดูกาลทั้งในพื้นที่นาลุ่มและนาดอน รวมถึงพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่างในปีที่ผ่านมา ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และไม่กระทบแล้งในช่วงออกดอก มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยปริมาณน้ำเพียงพอ ประกอบกับเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่งผลให้มันมีขนาดหัวใหญ่และมีน้ำหนักดี
ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากยางพาราที่ปลูกในปี 54 ทดแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และปลูกทดแทนใน สวนยางพาราเก่า เริ่มให้ผลผลิต ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ในปี 57 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ทะลายปาล์มมีน้ำหนักดี
สินค้าที่ราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางแผ่นดิบ และทุเรียน โดยมันสำปะหลัง แม้มีราคาเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเปอร์เซ็นต์แป้งลดลง ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนก.ค.– ส.ค.60 สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวรวม มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา น้ำมันปาล์ม สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด และเงาะและผลิตภัณฑ์ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกในช่วงดังกล่าวลดลง
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.3% โดยสินค้าปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการผลิตในช่วงที่ผ่านมาเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ดี และสภาพอากาศที่เย็นขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 59 ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ราคาในช่วงเดือนก.ค.– ก.ย.60 ไก่เนื้อ และน้ำนมดิบ มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สุกร และไข่ไก่ มีราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
การส่งออก ในเดือนก.ค. – ส.ค.60 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงแต่ง การส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ขยายตัวได้ดี และการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากภายหลังการอนุญาตให้นำเข้าเนื้อไก่จากไทยได้ตั้งแต่เดือนพ.ย.59 สาขาประมง หดตัว 3.2% เป็นผลมาจากกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงผลผลิตมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญภาคใต้ เกษตรกรผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ชะลอการเลี้ยงในช่วงก่อนหน้าเนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกค่อนข้างมาก ราคา ช่วงเดือนก.ค. – ก.ย.60 ราคากุ้งขาวแวนนาไม และราคาปลานิลที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 59 ในขณะที่ราคาปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การส่งออก ช่วงเดือนก.ค.– ส.ค.60 ปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าประมงที่ทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง สำหรับกุ้งและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าประมงที่ทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อจากตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 5.0% จากสถานการณ์การผลิตทางการเกษตรเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มีฝนตกตามฤดูกาลเพียงพอต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเกี่ยวนวดข้าว เพิ่มขึ้น อีกทั้งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดต้องปลูกข้าวซ่อมในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จึงทำให้มีการจ้างบริการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น
สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และครั่ง ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก สำหรับไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าที่หมดอายุ ซึ่งส่วนใหญ่นำไปทำไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศ ส่วนครั่งมีการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากขึ้น
ด้านนายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สศก. กล่าวเสริมว่า เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดจะออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก เช่น ยางพารา แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือสภาพอากาศทางภาคใต้ซึ่งมีการพยากรณ์อากาศว่าจะมีฝนตกชุก จากเดิมที่คาดการณ์ผลผลิตยางพาราปีนี้ 4.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ราคายางพารา ตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.60 ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 50.86 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ก.ค.-ก.ย.59 ที่ราคาอยู่ที่ 49.28 บาท/กก. ส่วนราคาเฉลี่ยตั้งแต่ม.ค.-ก.ย.60 อยู่ที่ 61.49 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากม.ค.-ก.ย.59 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 45 บาท/กก.
แต่เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดมาก ราคาจะอ่อนตัว แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งปี และราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3 ราคายางของไทยปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดประเทศคู่ค้าที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนข้าวนาปี คาดว่าผลผลิตอาจจะลดลงเล็กน้อยจากภาวะน้ำท่วมในภาคอีสาน ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวนาปีหายไปประมาณ 1 ล้านตัน แต่เนื่องจากแหล่งผลิตข้าวนาปีที่สำคัญคือ 5 จังหวัดสำคัญในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ไม่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
เมื่อดูจากผลผลิตข้าวนาปรัง (ปลูกพ.ย.59-เม.ย.60) ที่ออกมาในปีนี้เกือบ 5 ล้านตัน แม้ว่าจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ผลผลิตจะอยู่ที่ 7.2 ล้านตันแต่ผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลผลิตอยู่ที่ 3.1 ล้านตันเนื่องจากปีที่แล้วมีปัญหาภัยแล้ง ทำให้ภาพรวมผลผลิตข้าวปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้น
"ผลผลิตข้าวปีนี้ถือว่าเกินจากแผนข้าวครบวงจร ดังนั้น อาจจะต้องมาทบทวนแผนบริหารจัดการข้าว"