(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ย.60 ขยายตัว 4.2%, 9 เดือนโต 1.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 31, 2017 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 3 ขยายตัว 4.0% และ MPI ภาพรวม 9 เดือน ขยายตัว 1.4% เข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดปี 60 ที่ตั้งไว้ 1.5%

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย.60 อยู่ที่ 114.59 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายอัตราการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน และภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 9 เดือนของปี 2560 ขยายตัว 1.4% เข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2560 ทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5%

ด้านอัตราการใช้กำลังผลิต ก.ย.60 อยู่ที่ 63.56% เพิ่มขึ้นจาก 59.66% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจาก 62.43% ในเดือน ส.ค.60

ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) เดือนก.ย.ขยายตัว 7.1% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 11.9% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 10.5% โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง มอเตอร์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 45.69% โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์รถปิคอัพ เนื่องจากผู้ผลิตได้ทำ minor change รวมถึงมีกำลังซื้อบางส่วนที่ได้ปลดล็อคจากโครงการรถคันแรก ส่งผลให้ทั้งปริมาณจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น

"อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ในเดือนกันยายนขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกรถกระบะที่มีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ประกอบกับตลาดในประเทศมีการขยายตัว เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนเริ่ม ฟื้นตัว และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ"

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่นและยางแท่ง โดยในปีนี้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดปีส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่ หลาย ๆ บริษัทจึงทำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น รวมถึงการเร่งส่งออกไปยังประเทศจีน

มอเตอร์ไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 35.37% ตามคำสั่งซื้อต่างประเทศของผู้ผลิตที่มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียนทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น 141.57%

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ PCBA ที่เป็นไปตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.96% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยดัชนีผลผลิต อยู่ที่ 110.61% โดยเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตในเดือนกันยายน 2560 เพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 128.88 ในขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 261% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% เนื่องจากการผลิตสินค้าหลักขยายตัวได้แก่ ผักและผลไม้ ปศุสัตว์ และน้ำตาลประกอบกับการบริโภคภาพรวมในประเทศเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน %5.6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ