(เพิ่มเติม) ธปท. เผยเศรษฐกิจไทย ก.ย.โตต่อเนื่องตามส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภค-ลงทุนเอกชนขยายตัวดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 31, 2017 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย.60 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำจากผลของฐานสูงในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

ในเดือนก.ย.60 มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 8.9% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกตลาดส่งออกสำคัญและเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและน้ำตาล 3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ตามการส่งออกโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า 4) ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ยางล้อและเครื่องยนต์ รวมถึงการส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลียและตะวันออกกลางที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และ 5) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวและยางพารา

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 5.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่บางส่วนได้เปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 1.1% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ลดลง จากการชะลอการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดช่วงวันหยุดยาวจากวันชาติมาเลเซียและเทศกาลฮารีรายอฮัจญีในเดือนก่อนหน้า

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และหมวดสินค้าไม่คงทนตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้น แต่ยังคงไม่เข้มแข็งและทั่วถึง โดยรายได้ในภาคเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกันทั้งการผลิตหมวดยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาคารชุด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 6.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 5.3% ชะลอลงตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลง หลังจากเร่งนำเข้าไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงขยายตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าโลหะ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรรวม สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีการชำระเงินทุนเพื่อจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย โดยหากหักผลของฐานสูงออก รายจ่ายประจำจะขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการเบิกจ่ายงบกลุ่มจังหวัดของงบเพิ่มเติมประจำปี 2560

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.86% เร่งขึ้นจาก 0.32% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสดที่หดตัวน้อยลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.53% ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 0.46% สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ 2) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และ 3) การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ขณะเดียวกันยังมีการไหลเข้าเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตราสารหนี้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าในไตรมาสที่ 2 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีทั้งในมิติของสินค้าและตลาดส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราสูงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้น แม้การบริโภคสินค้าในประเทศในภาพรวมยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำแม้จะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกระจุกตัวของอุปสงค์ในประเทศ อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ