เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ความว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 คณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้ "พื้นที่" หมายความว่า พื้นที่ที่จะกำหนดเป็นแปลงสำรวจ "หลุมสำรวจ" หมายความว่า หลุมที่เจาะขึ้นเพื่อใช้ดำเนินกาสำรวจตามมาตรฐานในการค้นหาปิโตรเลียม โดยเจาะเพื่อทดสอบชั้นหินเพื่อให้ทราบว่ามีปิโตรเลียมอยู่หรือไม่เพียงใดแต่ไม่รวมถึงหลุมประเมินผลและหลุมผลิตปิโตรเลียม
"ปริมาณสำรอง" หมายความว่า ผลรวมของปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (proved reserves) กับปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่คาดว่าจะพบ (probable reserves) ประเมิน ณ เวลาหนึ่ง ๆ เป็นรายพื้นที่ โดยอ้างอิงวิธีการประเมินปริมาณสำรองปิโตรเลียมตามมาตรฐาน Petroleum Resources Management System (PRMS) หรือมาตรฐานอื่นที่อธิบดีเห็นชอบ
"โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย" หมายความว่า ผลการคำนวณเชิงสถิติจากจำนวนหลุมสำรวจทั้ง หมดในประเทศที่พบปิโตรเลียมซึ่งนำไปสู่การผลิตปิโตรเลียมได้ หารด้วยจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละ ทั้งนี้ ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายประกาศนี้
"โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม" หมายความว่า ผลการคำนวณเชิงสถิติจากจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดที่พบปิโตรเลียมซึ่งนำไปสู่การผลิตปิโตรเลียมได้ในภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมหนึ่ง หารด้วยจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมนั้น ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละ ทั้งนี้ ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายประกาศนี้
"ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม" หมายความว่า ภูมิภาคที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดขึ้นตามลักษณะธรณีวิทยาปิโตรเลียม คือ (1) ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมตะวันออกเฉียงเหนือ (2) ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเหนือและกลาง (3) ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมใต้บนบก (4) ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทย และ (5) ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอันดามัน ทั้งนี้ ตามเอกสารหมายเลข 2 ท้ายประกาศนี้
ข้อ 2 พื้นที่ใดที่มีผลการสำรวจพบปิโตรเลียมที่ชัดเจนและมีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่สามร้อยล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่าสี่ล้านบาร์เรลต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม หรือมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติตั้งแต่สามล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไปและมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่าสี่หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม ให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการ
ข้อ 3 พื้นที่อื่นนอกจากพื้นที่ตามข้อ 2 การกำหนดรูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใด ให้พิจารณาจากโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่มีพื้นที่นั้นอยู่เทียบกับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ดังต่อไปนี้
(1) หากโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมใด มีค่าสูงกว่าโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ให้ดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ในภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมนั้นในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต
(2) หากโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมใด มีค่าต่ำกว่าหรือเท่ากับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ให้ดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ในภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมนั้นในรูปแบบสัมปทาน
ข้อ 4 ในกรณีที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 หรือข้อ 3 แล้วไม่สามารถหาผู้รับสัญญาจ้างบริการ ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือผู้รับสัมปทานตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณานำพื้นที่นั้นมาดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้มีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ข้อ 5 ให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม และการพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทุก ๆ สามปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่ผลการทบทวนตามวรรคหนึ่งปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยหรือโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมหรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมไม่กระทบต่อการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใดที่ได้ให้ไปแล้วก่อนวันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยและโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม มีดังต่อไปนี้
1.ประเทศไทย โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 39
2.ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมตะวันออกเฉียงเหนือ โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 14
3.ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเหนือและกลาง โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 31
4.ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมใต้บนบก โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 0
5.ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทย โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 50
6.ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอันดามัน โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 0
หมายเหตุ โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์เป็นผลการคำนวณเชิงสถิติจากจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดที่พบปิโตรเลียมซึ่งนำไปสู่การผลิตปิโตรเลียมได้หารด้วยจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดโดยพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือในรูปแบบสัมปทานจากการเปรียบเทียบโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่มีพื้นที่นั้นอยู่กับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย