นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 30 กันยายน 2560) ว่า ธ.ก.ส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 17,843 ล้านบาท ส่งผลยอดรวมของสินเชื่อคงเหลือเป็น 1,294,886 ล้านบาท หรือขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2559 1.40% ทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2560 ถึง 1,642,487 ล้านบาท โดยธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,385,017 ล้านบาท
สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 5.75% ของสินเชื่อรวม รวมทั้งธนาคารมีสถานะกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 12.37% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50% สำหรับภารกิจที่สำคัญในปีบัญชี 2560
ธ.ก.ส.ยังทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรผ่านมาตรการและโครงการที่สำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย จ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 56,022 ราย เป็นเงิน 68,542 ล้านบาท และมี SME เกษตรที่เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วกว่า 2,401 ราย
2. การแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 41,108 ราย ลดภาระหนี้นอกระบบได้จำนวน 4,001 ล้านบาท 3. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ 1,585,031 ราย พื้นที่ 23.76 ล้านไร่
4. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ ปี 2560 มีประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด 6.16 ล้านราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการแจกบัตรสวัสดิการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 ผลการดำเนินงาน ณ 31 ตุลาคม 2560 มอบบัตรสวัสดิการไปแล้ว 5.7 ล้านราย
นายอภิรมย์ กล่าวไปต่อว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวผ่านจากการเป็นผู้ผลิตระดับต้นสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งการผลิต การตลาด การจัดการบัญชีเงินทุน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ การเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความเป็นสากล พัฒนาสินค้าจากตลาดประชารัฐระดับชุมชน สู่การค้าระหว่างกลุ่มเกษตรกร
สถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งไปยังระบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตลาดจากชุมชนสู่ระดับประเทศและระดับโลก ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce เพื่อยกฐานะ SMEs เกษตร รูปแบบเดิมไปสู่ Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงสามารถบรรลุเป้าหมายเกษตรกร 4.0 และยังเป็นหัวขบวนภาคเกษตรที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาถ่ายทอดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรลูกค้า ครอบครัวและชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงธ.ก.ส. และได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับขึ้นเป็น ชุมชนท่องเที่ยวตามรอยเท้าพ่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมเป็นแกนกลางเหนี่ยวนำชุมชนอื่นๆ ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุดโดยปัจจุบันมีชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อแล้วทั้งสิ้น 77 ชุมชนทั่วประเทศ"นายอภิรมย์ กล่าว