การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (Asian ministerial Energy Roundtable : AMER) ครั้งที่ 7 หรือ AMER7 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.60 โดยในช่วงการประชุมร่วมเมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยี และได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
1.บรรดารัฐมนตรีให้ข้อสังเกตว่าเอเชียเป็นจุดสำคัญของทั้งโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคง มีราคาที่เหมาะสม และเท่าเทียมกัน การเจริญเติบโตของความต้องการและน้ำหนักทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ของเอเชียในโดยรวม จะช่วยลดความผันผวนในตลาดโลก และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก
2.การสร้างความแข็งแรงด้านการลงทุนร่วมกันทั้งในเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในทวีปเอเชียจะเป็นตัวอย่างให้แก่ภูมิภาคอื่นในการดำเนินรอยตามในการสร้างความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดพลังงานที่สุขภาพดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
3.บรรดารัฐมนตรีมีความยินดีต่อการประชุมหารือที่ได้รับการสนับสนุน โดยองค์การพลังงานสากล (International Energy Forum :IEF) เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานตามแต่ละเส้นทางการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ ผ่านตลาดพลังงานที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี เปิดเผย มีการแข่งขัน มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ การค้า และการลงทุนทั่วภูมิภาคเพื่อการสร้างการเข้าถึงพลังงานให้กับผู้คนเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้นและดีขึ้น ,การสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดของเสียเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน ,การเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส
4.บรรดารัฐมนตรีตระหนักว่าการลงทุนในภาคพลังงานในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีก้าวกระโดดจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การลงทุนในแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้วและในการบูรณาการด้านโครงข่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเติบโตของความต้องการและความสมดุลทางตลาดนั้นอยู่ในช่วงถดถอยลง
5.บรรดารัฐมนตรียังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเจรจาหารือในเวทีด้านพลังงานระดับสากลที่เปิดกว้างและเป็นกลาง โดยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันการลงทุนในพลังงานฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกันในตลาดพลังงานที่บูรณาการและมีความยืดหยุ่น
6.เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนในระยะยาวที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผันของรูปแบบความต้องการใช้และการจัดหา บรรดารัฐมนตรีให้มีการเปิดตลาดเพื่อรองรับเทคโนโลยีและแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาด นักลงทุนอุตสาหกรรม และสถาบันทางการเงิน เพื่อใช้โอกาสใหม่ๆได้อย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีอยู่เดิม
7.บรรดารัฐมนตรีส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือที่บูรณาการในระดับสากลเพื่อเร่งให้เกิดผลจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดทั่วทุกภาคส่วนของภาคพลังงาน และใช้กรอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ IEF พร้อมกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดขององค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเวทีด้านธรรมาภิบาลในเอเชีย รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ในโครงการ G20 Energy Efficiency Leading Programme ภายใต้การรับรองจากการประชุม G20 ที่ประเทศจีนเป็นประธาน ในปี พ.ศ.2559 และข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มการผลิตประสิทธิภาพการพลังงานในเอเชีย รวมทั้งระดับโลก
ทั้งนี้ การประชุม AMER7 มีผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงานในเอเชีย รวม 24 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศชั้นนำ 11 องค์การ ได้มีการอภิปรายที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับทิศทางของตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวามถึงผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมีผลการอนาคตภาคพลังงานในเอเชีย
พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานของไทย ได้ให้หยิบยกประเด็นสำคัญในฐานะของประเทศเจ้าภาพว่า ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประเทศได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทย ในการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ
KhalidAl-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรแร่ของซาอุดิอาระเบีย และประธานการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้กล่าวถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงด้านพลังงานของเอเชีย ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งหากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมก็อาจมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานได้
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่าแนวทางในการพัฒนาภาคพลังงานในอนาคตต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและมีความเสี่ยงน้อย และจะต้องคำนึงถึงการลงทุนเพิ่มเติมในเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย นอกจากนี้ ได้กล่าวว่า การดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ยังเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน
H.E. Sun Xiansheng เลขาธิการของ IEF กล่าวว่า การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ ต้องอาศัยการมีความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง เพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานมีประสิทธิภาพ และเป็นตลาดพลังงานที่สำคัญของเอเชีย การหารือร่วมกันของรัฐมนตรีเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัจจุบันและเทคโนโลยีใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงพลังงาน ราคาที่เหมาะสม เติบโต และมีสมดุลพลังงานที่สะอาด มีประสิทธิภาพ และมั่นคงมากขึ้นทั่วโลก
H.E. Shri Dharmendra Pradhan, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของประเทศอินเดียและประธานคณะกรรมการบริหารองค์การพลังงานสากล กล่าวว่า 18 ประเทศ ในกลุ่มประเทศสมาชิกของ G20 นั้น ยังเป็นสมาชิกองค์การพลังงานสากล ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์การพลังงานสากลต้องแสดงบทบาทที่โดดเด่นในการร่วมมือกับกลุ่มประเทศสมาชิกของ G20
H.E. Shamshad Akhtar, รองเลขาธิการและเลขาธิการบริหาร สหประชาชาติ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิก เน้นว่า เอเชียแปซิฟิกสามารถลดความเข้มการใช้พลังงานไปได้มากกว่า ร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งแซงหน้าภูมิภาคอื่นในโลก และกล่าวว่าการตัดสินใจในวันนี้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานในประเทศต่างๆ เช่นประเทศไทยนั้น จะสามารถบ่งบอกได้ว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกนั้นจะเร็วพอที่จะมีพลังงานใช้ได้อย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 จะเป็นไปได้หรือไม่
H.E. Dr Mohammad Al Sada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมของประเทศกาตาร์ และประธานการจัดประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานครั้งที่ 6 เมื่อปี 2558 กล่าวว่า ความท้าทายของธุรกิจ LNG ในวันนี้คือการหาจุดสมดุลระหว่างความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อซึ่งก็คือตลาดที่มีการแข่งขันและความความยืดหยุ่น และความต้องการของกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งก็คือ การกระแสเงินสดที่ดีจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
Suhail Mohamed Al Mazrouei รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประธานร่วมในการจัดประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 และจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งต่อไปในปี 2562 ได้กล่าวว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชียเป็นเวทีสำหรับกลุ่มประเทศเอเชีย จะเป็นโอกาสในการหารือกันอย่างเปิดเผยในเวทีที่เป็นกลางซึ่งจัดโดย IEF เกี่ยวกับพัฒนาการด้านพลังงาน และการสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืนมากขึ้น