นายกฯ เผยเดินหน้าผลักดันมาตรการสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกในอีก 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 6, 2017 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก” เนื่องในโอกาสเปิดงานประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก CIBJO Congress 2017 โดยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีส่วนในการสร้างรายได้ให้กับแรงงานกว่า 7 แสนคน และสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ไทยจะมีจุดแข็งและความได้เปรียบจากความหลากหลายของสินค้าที่สามารถผลิตได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับ โดยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แล้วนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าวัตถุดิบพลอยก้อนสำคัญของไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบแอฟริกา และบางส่วนมาจากประเทศในภูมิภาคอื่น

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ รัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และการส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอย่างเต็มที่

"ผู้เข้าร่วมงานวันนี้ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่น่าสนใจ อย่างสร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ตลอดจนช่วยส่งเสริมภาคเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้ามีเสถียรภาพมั่นคง โดยไทยมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าเพื่อยกระดับศักยภาพ และมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลดให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า" นายกฯ ระบุ

สำหรับมาตรการในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ มาตรการทางภาษีและการเงิน เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและช่วยดึงดูดให้มีการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้จ้างแรงงานทักษะสูง ตลอดจนการให้สินเชื่อในอัตราพิเศษเมื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ส่งเสริมให้มีการแสวงหาพันธมิตรด้านแหล่งวัตถุดิบเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน คุณภาพวัตถุดิบ และเสถียรภาพของการผลิต โดยในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังรับจ้างผลิตอยู่ และยังขาดการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยนวัตกรรมและการออกแบบสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาระบบตรวจสอบและการรับรองมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

มาตรการยกระดับฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานฝีมือและผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต จากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย การพัฒนาสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด สนับสนุนการตลาดเชิงรุกทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเข้ากับภาคการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพของไทย ประชาสัมพันธ์ในแหล่งท่องเที่ยวในย่านการค้าสำคัญ รวมถึงประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า มาตรการต่างๆนี้ ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมีความพร้อมครบทุกด้าน รวมถึงการจัดตั้งโครงการ EEC ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ต่างประเทศภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยกลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ คือ ศูนย์การผลิตปิโตรเคมีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของเอเชีย และศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และที่สำคัญพื้นที่โครงการ EEC ยังอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบพลอยสีของไทยในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งค้าพลอยสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมค้าพลอยแบบครบวงจร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 10 ของโลก โดยในปี 2559 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) มูลค่ารวม 14,246.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (501,107.38 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.49% ของ GDP ประเทศ ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศไทย มีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 10,662.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (364,020.73 ล้านบาท)

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลกประจำปี 2560 (CIBJO Congress 2017) ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีสำคัญ นอกจากการประชุมหารือนโยบายต่างๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เวทีนี้แสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพได้เป็นอย่างดี โดยมี ผู้แทนจาก กลุ่มบริษัท De beers ผู้นำในธุรกิจการค้าเพชรระดับโลก CEO จากบริษัท Gemfields ผู้นำธุรกิจการค้าพลอยสี, ตัวแทนจาก Vicenzaoro ผู้จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีเครื่องประดับและนาฬิกาชั้นนำของโลก รวมทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมระดับโลก เข้าร่วมงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ