สภาผู้ส่งออกฯ คาดส่งออกไทยปี 60 โตไม่ต่ำกว่า 8% ตามทิศทางการค้าโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 6, 2017 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดว่าการส่งออกของไทยปี 60 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% ตามทิศทางการค้าโลก หลังเดือน ก.ย.60 ขยายตัว 12.2% มีมูลค่า 21,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และสูงสุดในรอบ 56 เดือน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 720,176 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้การส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ในรูปเงินบาทการส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 6,001,376 ล้านบาท เติบโต 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY)

"การส่งออกของไทยในปี 2560 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และแนวโน้มสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีทั้งปริมาณและราคา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และในภาคอุตสาหกรรมเช่น ทองคำ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ"สรท.ระบุ

ทั้งนี้ การเติบของการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จาก 1) การขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา พลิกกับมาโตช่วงปลายไตรมาส 3/60 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งทางทะเล และทางอากาศระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา

2) การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก น้ำตาลทราย ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจากปัจจัยบวก อาทิ ราคา และความต้องการสินค้าเพื่อนำไปผลิตต่อของคู่ค้า 3) การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมตอนรับเทศกาล Thanksgiving ในช่วงพ.ย.นี้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกไทยประกอบด้วย 1) จับตานโยบายของผู้สมัครประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมาแทนที่คนปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระลงในเดือน ก.พ. 2561 ซึ่งอาจมีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นและอาจส่งผลให้ค่างเงินบาทผันผวนต่อไป 2) มาตรการกีดกันทางการค้าในประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา-Buy America และจีน-Safeguard- Anti-dumping รวมถึงความไม่พร้อมของไทยในการปฏิบัติตามข้อกำหนด Trade Facilitation Agreement ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการส่งออกของไทย 3) การเคลื่อนย้ายแรงงานและการสร้างตลาดแรงงานที่มีคุณภาพต่อการผลิต 4) สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีหลังรัสเชียออกมาปฏิเสธการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ขณะที่จีนยืนยันจะส่งออกสินค้า Humanitarian Needs ให้กับเกาหลีเหนือต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ที่จะถึงนี้ และความล่าช้าในการพัฒนา National Single Window ให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ 2) ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการรับอนุญาตให้ทำงาน ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติซึ่งกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ และมีผลในทางปฏิบัติ เช่น อัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของคนต่างด้าว รวมถึงระยะเวลาดำเนินการและการรับรองเอกสาร เป็นต้น

3) กฎหมาย Buy America ของประธานนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นกฎหมายเชิงนโยบายที่กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจัดซื้อจัดจ้างและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก และ 4. ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อการเข้าร่วมประชุม APEC Economic Leader Meeting (APEC CEO summit) ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และประชุม ASEAN Summit ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และการเดินทางเยือนประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3 – 14 พ.ย.60

ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาทไทย ปัจจุบันอยู่ในสภาวะค่าเงินบาททรงตัวค่อนไปทางแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยต่างที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1) ภาวะเศรษฐกิจและดุลการค้าของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น 2) ปัจจัยจากสถานการณ์การเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินและปริมาณเงินทุนไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศเร่งออกมาตรการควบคุมเงินไหลเข้า

3) ปัจจัยในประเทศที่ทำให้บาทแข็งส่วนหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน (1.5%) เพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในระดับสูง คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยก่อนที่ปี 2561 มีโอกาสปรับเพิ่ม 1 ครั้ง ตามการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์ 4) มูลค่าการส่งออกของไทยปรับตัวสูงขึ้นและดุลการค้าเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สรท.เสนอแนะภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ ประกอบกับใช้ครื่องมือต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศมากเกินไป คาดว่า กนง.อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วง ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีด้วย ด้วยเหตุนี้มีความเป็นไปได้ว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้

การค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดขั้นตอน อุปสรรค และต้นทุนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยให้การค้าในระบบ E-Commerce มีการขยายตัวได้มากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ ต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรี ทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขในกรอบการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เร่งรัดกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ไทยได้มีข้อได้เปรียบทางการค้าเหนือคู่แข่งสำคัญ รวมถึง ติดตามสถานการณ์และเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ เนื่องจากส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ