นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.7-4.0% และประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่การส่งออกจะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการที่ 6.5-7.5% ขณะที่เงินเฟ้อยังคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.5-1.0% ตามเดิม
เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 3/2560 ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ดีกว่าคาด การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ แม้เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นอาจจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง โดยเฉพาะการผลิตในภาคเกษตร แต่คาดว่ามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย จะช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังขยายตัวได้ในกรอบการคาดการณ์
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน "Doing Business 2018: Reforming to Create Jobs" หรือรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2561 โดยประเทศไทยมีอันดับ 26 จาก 190 ประเทศของโลก เพิ่มขึ้น 20 อันดับ และติดที่ 2 ของโลกประเทศที่พัฒนามากที่สุด
"ผลที่ได้ออกมาในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่พยายามสนับสนุนให้การแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยจะส่งผลให้การทำธุรกิจภายในประเทศมีความสะดวกมากยิ่งขี้น ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมทั้งภาคประชาชน และจะทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขี้น ซึ่งทาง กกร.ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนในการดำเนินการอย่างเต็มที่" นายเจนระบุ
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น จากเครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาแรงส่งของการขยายตัวต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2560 นี้และในปี 2561 สอดรับกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากเดิม นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่ามาตรการด้านการคลังของสหรัฐฯ คงจะสามารถผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาและมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีหน้า หลังจากที่ร่างกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบของสภาล่างสหรัฐฯ มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นท้าทาย ได้แก่ เศรษฐกิจหลักอื่นๆ อาทิ สหภาพยุโรป และจีน ที่ในปี 2561 ถูกคาดการณ์ว่าการขยายตัวอาจจะชะลอลงจากปี 2560 ประกอบกับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวน ทำให้อาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้