นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการช็อปช่วยชาติรอบใหม่สำหรับปีนี้ที่กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น คาดว่ารัฐบาลต้องการช่วยชดเชยให้กับห่วงโซ่เศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตขึ้น แต่ยังเติบโตแบบกระจุกตัวโดยเฉพาะในภาคส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นมาตรการนี้จะช่วยกระจายรายได้ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า และภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
"ถ้าดูเศรษฐกิจโดยรวม GDP ค่อนข้างสูงที่ 4% มาตรการนี้ คนที่ทำคงคำนึงถึง Supply Chain ที่ยังไม่มีรายได้มากนัก รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งมาตรการนี้ไม่น่าจะเสียหายอะไร" นายเชาว์กล่าว
พร้อมมองว่า รัฐบาลคงเป็นห่วงผู้ประกอบการธุรกิจที่ปีก่อนรัฐบาลได้มีมาตรการนี้ออกมาใช้แล้ว ซึ่งถ้าปีนี้ไม่ทำอาจจะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกเสียโอกาส ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้ใช้มาตรการนี้เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ตัวเลข GDP ไม่ใช่ประเด็นหลักที่มุ่งหวังจากมาตรการนี้ ถึงแม้ว่ามาตรการจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อในอนาคต แต่มองในแง่ที่จะช่วยผู้ประกอบธุรกิจให้ได้รับผลดีเท่ากับปีก่อน ซึ่งคาดว่ารอบนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5-6 พันล้านบาท
"ในภาวะอย่างนี้ เมื่อเศรษฐกิจบางส่วนยังไม่ดี ก็จะช่วยเสริมฐานรากให้แข็งแกร่ง คนทำชั่งน้ำหนักแล้วจึงตัดสินใจ ซึ่งรัฐก็มีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามา ไม่ใช่แค่เคลมภาษีอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5-6 พันล้านบาท"นายเชาว์ระบุ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ย.) นายเชาว์ คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต คงต้องรอดูจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), นโยบายประธานเฟดคนใหม่ และอัตราเงินเฟ้อในประเทศว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
"เศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด หรือตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ใช่ประเด็น ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยยังเป็นทางเลือกที่ทำได้ เพราะยังมีเวลาพอสมควรที่จะทบทวน" กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวช่วงสั้นน่าจะเป็นผลดี เพราะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเติบโตแบบกระจุกตัวได้ เพราะจะช่วยกระจายกำลังซื้อไปสู่เศรษฐกิจรากฐานได้มากขึ้น
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลดีทางจิตวิทยา และเมื่อถึงเวลาจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้เกินกว่ากรอบวงเงินที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม แต่คงต้องขอรอดูรายละเอียดของมติ ครม.ก่อน
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะออกมาตรการดังกล่าวในปีนี้ เพราะจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยจนกลายเป็นความคาดหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการดังกล่าวทุกปี แต่เมื่อตัดสินใจที่จะทำแล้วก็น่าจะเป็นผลดีเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ