สศค.เปิดรับฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 8, 2017 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยเมื่อวานนี้ (7 พ.ย.60) สศค.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน (ร่าง พ.ร.บ. Dormant Account) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสภาสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน

ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาหลักการและเหตุผล รวมถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นรายมาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกเจ้าของบัญชีในการสืบค้นบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 ปี จากระบบตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวแบบรวมศูนย์ที่กรมบัญชีกลาง โดยเจ้าของบัญชีหรือทายาทสามารถติดต่อของรับเงินคืนได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯ เห็นควรให้มีความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประเภทของบัญชีเงินฝาก นิยามของบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ระยะเวลาและกระบวนการดำเนินการในทางปฏิบัติ เป็นต้น และเห็นควรให้มีการพิจารณาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับให้เหมาะสม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระยะเวลาในการเตรียมการ อีกทั้งควรพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

ทั้งนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.Dormant Account จะเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และจะนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. Dormant Account ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

นอกจากนี้ สศค.จะดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. Dormant Account อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ และอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดทำประเด็นคำถามคำตอบเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการนำขึ้นเว็บไซต์ของ สศค. ในโอกาสต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ