(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 8, 2017 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามตลาดคาด

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจะสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป

"คณะกรรการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้" เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้างตามการเบิกจ่าย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค้าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ และภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนเงินบาทเทียบสกุลคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องในระบบสูง เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับขึ้น และคาดว่ากลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ ในช่วงกลางปี 2561 ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะผลจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับขึ้น ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

พร้อมมองว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 (มาตรการช็อปช่วยชาติ) คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนจะมากน้อยเพียงใด ขอติดตามประเมินอีกครั้งในการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ