ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 76.7 จาก 75.0 ในเดือน ก.ย.60 โดยเป็นการปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 64.1 จาก 62.5 ในเดือน ก.ย.60
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.4 จาก 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.4 จาก 92.7
สำหรับปัจจัยบวกหนุนดัชนีฯ ได้แก่ นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ, การส่งออกเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 12.22%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย และการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศเลือกตั้งปลายปี 61
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้, ราคาพืชผลทางการเกษตร ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ และความกังวลปัญหาการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเกาหลีเหนือ ที่หวั่นจะกระทบการส่องออกและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ต.ค.60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และเห็นว่าการเมืองในอนาคตเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องจากยังกังวลปัญหาราคาพืชผลเกษตรที่ส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ทำให้กำลังซื้อทั่วไปขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่ดีขึ้นมากนัก แม้จะรู้สึกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
"จุดที่น่าสนใจคือ แม้ประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย แต่เริ่มรู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลเกษตรแม้ยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่ก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะทรุดตัวรุนแรง และสถานการณ์ราคาจะค่อยๆ คลายตัวเมื่อระดับราคาน้ำมันเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาเพิ่มขึ้นตาม บรรยากาศเหล่านี้ทำให้คนพร้อมจะออกมาจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาสนี้ และเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 60 ขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0% ตามที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินไว้
ส่วนมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี หรือมาตรการ"ช็อปช่วยชาติ"คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาช่วยเติมในระบบเศรษฐกิจได้ราว 15,000-20,000 ล้านบาท น่าจะใกล้เคียงกับปี 58 และ 59 หากรวมเม็ดเงินที่จะเข้ามาช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อยอีกราว 5,000 ล้านบาทแล้ว ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท และช่วยกระตุ้น GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 0.1%
"จากมาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ที่มีระยะเวลา 23 วัน คาดว่าจะมีเม็ดเงินใหม่ประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท ที่เข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกรอบ รวมกับบัตรสวัสดิการฯ อีกประมาณ 5,000 ล้านบาทที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้าย รวมกันแล้วประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท ก็จะช่วยเป็นแรงเหวี่ยงในการกระตุกเศรษฐกิจได้ บรรยากาศช่วงปีใหม่น่าจะดีขึ้น คนมีอารมณ์จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น คาดช่วยกระตุ้นจีดีพีเพิ่มอีก 0.1% ซึ่งเรามองว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.9%" นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 61 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.2% มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การส่งออกที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน การท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นเป็น 37-38 ล้านคน การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่ประชาชนมีความพร้อมมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย และภาคเอกชนเริ่มมีการลงทุนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการลงทุนของภาครัฐ
"เรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมๆ กันแล้วน่าจะมีส่วนทำให้ GDP ในปีหน้าเติบโตได้ 2.5% และเมื่อรวมกับเม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ และโครงการ EEC ก็เชื่อว่าอย่างน้อย 4% ปีหน้ามีโอกาสจะได้เห็นแน่ๆ อยู่แล้ว" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งในคาบเกาสมุทรเกาหลี, ปัญหาภัยธรรมชาติ, ภัยจากการก่อการร้าย และปัญหาราคาพืชผลเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ เป็นต้น