นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) มูลค่ารวม 7.45 แสนล้านบาท จำนวน 103 โครงการ ใช้ในระยะเวลา 5 ปี โดยโครงการที่เร่งการลงทุนก่อนได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ซึ่งจะรวมกับการเชื่อมสนามบิน 3 แห่ง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำการศึกษาอยู่ โดยคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้
รองลงมาคือโครงการลงทุนศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง บมจ.การบินไทย (THAI) กับ แอร์บัส โดยในปลายปีนี้จะมีการร่วมลงนามครั้งที่ 2 อีกทั้งการลงทุนขยายสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินงาน นอกจากนี้มีโครงการลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รวมทั้งมีการลงทุนทางหลวงทั้งสายหลักและสายย่อย
ขณะที่การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ยังเหลือ 3 เส้นทางที่กำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรคี (ครม.) พิจารณาทั้งหมดในปี 61 โดยโครงการรรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชันที่จะรวมทั้งงานก่อสร้างและการบริหารการเดินรถสายสีส้มรูปแบบ PPP คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 61
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่ง ครม.อนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างออก TOR คาดเปิดประมูลปลายปีนี้ และเริ่มก่อสร้างในปลายปี 61 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต- ธรรมศาสตร์ จะทยอยเสนอครม.ในปี 61
นายอาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ "Infrastructure Opportunities under Thailand 4.0" ว่าในปี 61 จะเป็นการ Transformation ครั้งที่3 ในด้านคมนาคมขนส่ง หลังจากได้ผ่านช่วงที่ 1 ในยุคการลงทุนอีสเทิร์นซีบอร์ด และช่วงที่ 2 ที่ลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 58-60) ที่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนี้จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องไปอีก 10 ปี
การลงทุนภาครัฐจะมีส่วนการวางพื้นฐานให้เศรษฐกิจ ให้ทุกคนได้รับประโยชน์ ทุกภาค จึงมีกรอบ 4 เรื่องในการดำเนินการ ได้แก่ ประสิทธิภาพระบบคมนาคมขนส่ง ต้นทุนการขนส่งที่ถูกที่สุด คือ ทางน้ำ รองลงมา คือ ระบบราง ต่อมาคือทางถนน แต่ไทยมีสัดส่วนใช้ทางถนนในการขนส่งมากที่สุด ดังนั้น ที่ผ่านมาราว 80% จึงได้ลงทุนในระบบราง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญทุกระบบ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย ลาว และจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road ของจีน และในปี 61-62 จะวางแผนลงทุนระบบทางน้ำมากขึ้น พร้อมทั้งจะมีการจัดให้มีการเชื่อมต่อการใช้ระบบคมนาคมขนส่งระบบรางเชื่อมกับระบบอื่น รวมทั้งการใช้บัตรตั๋วร่วมคาดว่าจะใช้ได้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.61 โดยเริ่มต้นให้ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง- สายสีน้ำเงินและแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์
ส่วนความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยนั้น หัวใจการคมนาคมคือ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย แต่ในไทยต้องเพิ่มเรื่องการเข้าถึง ซึ่งไม่ได้พูดถึงเข้าถึงบริการระบบคมนาคมของทุกคนในสังคมที่ตั้งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ โดยมองว่ากลุ่มนี้จะแนวโน้มขยายขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด รวมทั้ง เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งหมดนำไปสู่การปฏิรูป 2 เรื่อง คือเรื่องการบิน มีการแยกหน่วยงานกำกับ และ เป็นผู้ประกอบการ หลังจากปลดธงแดง ในหลายสายการบินเริ่มขยายสายการบิน ทั้งการบินไทย คาดว่าปี 61 จะมีความคึกคักเพราะจุดหมายปลายทางเป็นเอเชียแปซิฟิค มียอดสั่งซื้อเครื่องบินมาจากเอเชียแปซิฟิคในอีก 40-50 ปีข้างหน้า
"รัฐบาลเห็นโอกาสซ่อมบำรุงอากาศยาน เกิดโครงการ MRO อีกไม่กี่สัปดาห์เราก็จะมีการเซ็นสัญญาระหว่างแอร์บัสกับการบินไทย ครั้งที่ 2 "
นอกจากนี้ ปฏิรูปเรื่องรถเมล์ มีการแยกผู้กำกับดูแล และผู้ดำเนินการ องค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) ได้สิทธิเดินรถในกรุงเทพทั้งหมด และให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเดินรถ จึงเปลี่ยนให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ดูแล และ ขสมก.เป็นผู้เดินรถในกรุงเทพ พร้อมทั้งให้โอกาส ขสมก.เส้นทางเดินรถที่มีโอกาสทำกำไรได้บ้าง และปฏิรูปเส้นทางเพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดระยะทางเดินรถให้สั้นลง เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า กับท่าเรือ ขณะที่ระบบรางจะแยกกรมราง กับ รฟท.ซึ่งอยู่ขั้นตอนแก้กฎหมายอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกา
นายอาคม กล่าวว่า การลงทุนของกระทรวงคมนาคมต่อเนื่องมา 3 ปี (58-60) คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า รวม ประมาณ 2.39 ล้านล้านบาท โดยบางโครงการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการศึกษา บางโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนกรอบลงทุนในปี 61 มีจำนวน 1.03 แสนล้านบาทที่มี 8 โครงการใหม่