นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และจะร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและรัฐมนตรีการค้าฮ่องกง ลงนามในความตกลง AHKFTA ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560
ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement: AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Investment Agreement: AHKIA) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนาประชาพิจารณ์ความตกลงดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนได้รับทราบสาระสำคัญของความตกลงฯ และไม่ขัดข้องต่อการลงนามในความตกลงทั้งสองฉบับ
ทั้งนี้ อาเซียนและฮ่องกงเริ่มเจรจาความตกลง AHKFTA ตั้งแต่ปี 2557 และคณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปผลของการเจรจาทั้งหมดในการเจรจารอบที่ 10 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและฮ่องกงได้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา AHKFTA เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2560 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ฮ่องกง (AEM – Hong Kong, China Consultations) ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ AHKFTA เป็นความตกลงฉบับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอก
ความตกลง AHKFTA ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จะสร้างประโยชน์ต่ออาเซียนและฮ่องกง โดยฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงของอาเซียน ส่วนอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการที่ฮ่องกงยินยอมผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากอาเซียนในอัตรา 0% ซึ่งสร้างความแน่นอนต่อการส่งออกไปยังฮ่องกง ว่าฮ่องกงไม่สามารถขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอาเซียนได้ในอนาคต นอกจากนี้ อาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าและศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน
ภายใต้ความตกลง AHKFTA ฮ่องกงจะเปิดตลาดการค้าบริการให้อาเซียนมากกว่าที่ฮ่องกงเปิดให้แก่ประเทศอื่นๆ ภายใต้ WTO และจะเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมตามที่ไทยเรียกร้องในสาขาบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีต่อการยกมาตรฐานภาคบริการของอาเซียนจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง โดยเฉพาะสาขาการเงิน โลจิสติกส์ และการให้บริการทางกฎหมาย รวมถึงโอกาสในการเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพในการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity) และโครงการพัฒนา EEC เป็นต้น นอกจากนี้ ฮ่องกงได้สนับสนุนเงิน 25 ล้านเหรียญฮ่องกง เพื่อดำเนินการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากความตกลง AHKFTA มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะรวมถึงความร่วมมือในสาขาที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมภายในประเทศ เช่น SMEs พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และโลจิสติกส์ เป็นต้น
สำหรับไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์จากความตกลง AHKFTA โดยการใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนและตลาดอื่นๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น และยกระดับด้านการค้าบริการ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ของจีน และเขตเศรษฐกิจใหม่ (ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกว้างตุ้ง) หรือ Greater Bay Area ของฮ่องกง
ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ผลไม้สด สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืน ส่วนการลงทุนของฮ่องกงในไทย เมื่อปี 2559 มีโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 32 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 8.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวฮ่องกงกว่า 750,000 คน