ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ของปี 2560 น่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กระจายตัวมากขึ้นประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาไม่ว่าจะเป็น (1) มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด เช่น มติครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ได้แก่ เห็นชอบการช่วยเหลือเกษตรกรครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจากพายุตาลัสและพายุเซินกา ช่วงวันที่ 5 ก.ค. - 15 ส.ค. 2560 ครัวเรือนละ 3,000 บาท และ เห็นชอบการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจาก พายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุม ช่วงวันที่ 16 ส.ค. - 31 ต.ค. 2560 ครัวเรือนละ 3,000 บาท
(2) มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศอย่าง ‘มาตรการช้อปช่วยชาติ 15,000 บาท’ ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปยังภาคธุรกิจค้าปลีกราว 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจการค้าและการบริการมีการเพิ่มชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งส่งผลบวกต่อรายได้ของครัวเรือน และ (3) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นมา
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในเดือนต.ค. 2560 เผชิญปัจจัยกดดันชั่วคราว อย่าง ‘สถานการณ์น้ำท่วม’ ในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศและ ‘เทศกาลกินเจ’ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่สร้างความผันผวนทั้งทางด้านราคาและทางด้านปริมาณให้แก่ภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้เกษตรกร ภาวะการจ้างงานภายในประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าของผู้บริโภคในประเทศอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 45.9
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายรวมถึงหนี้สินของครัวเรือนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2560 โดยในประเด็นด้านราคาสินค้านั้น คาดว่า ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการยกเลิกรถเมล์-รถไฟฟรี รวมไปถึงการยกเลิกราคาโปรโมชั่นและปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นอัตราปกติของรถไฟฟ้าสายสีม่วงตั้งแต่ 1 พ.ย. 2560 ในส่วนของค่าใช้จ่ายและหนี้สินนั้น ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวการกลับภูมิลำเนา รวมไปถึงการจับจ่ายซื้อหาและมอบของขวัญปีใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายและหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ครัวเรือนไทยทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดมีมุมมองต่อภาวะการครองชีพในช่วงต้นปี 2561 ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่รักษาโมเมนตัวการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ในเดือนต.ค. 2560 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 46.4 จากเดิมที่ระดับ 45.7 ในเดือนก.ย. โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมองว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนประจำปี รวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษที่มีลักษณะเป็นเงินก้อน (เงินโบนัส) ขององค์กรส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรมีความคาดหวังว่าเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนต.ค. ไปแล้ว ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรน่าจะเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย