พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน โครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี อำเภอโพธาราม และฟังสรุปผลการดำเนินงานและตรวจเยี่ยมโครงการเกษตรแปลงใหญ่หนึ่งใจเดียวกันของเกษตรกร ว่า กระทรวงเกษตรฯได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" เพื่อส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เกิดผลทั่วประเทศ โดยในปี 2560 ได้รับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 70,000 ราย น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการติดตามตามเยี่ยมเยียนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและร่วมแก้ไขปัญหาอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากส่วนราชการในสังกัด สถาบันการศึกษา ปราชญ์เกษตร และภาคเอกชนที่สนับสนุน อีกทั้ง เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของภาคเกษตรที่สำคัญ อาทิ การขาดความรู้ และการบริการจัดการผลิต โดยให้เกษตรกรได้มีรายได้และความภาคภูมิใจในอาชีพ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ในเขตพื้นที่เหมาะสม อีกทั้งยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในครัวเรือน และนำรายได้จากการผลิตสินค้าหลักมาเป็นเงินออม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต และสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร
สำหรับปี 2561 ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยกำหนดรับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นรวมเป็น 140,000 ราย เพื่อถวายรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น จึงทำแบบปีที่แล้วไม่ได้ ต้องกลับมาทบทวนจากสิ่งที่เคยทำ ทำความเข้าใจกับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เพื่อให้โครงการฯ มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ในจังหวัดราชบุรี มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 ทั้งสิ้น 430 ราย โดยแบ่งเป็น เซลล์ต้นกำเนิด 135 ราย และแตกตัวจากเซลล์ต้นกำเนิดครั้งที่ 1 จำนวน 253 ราย แตกตัวครั้งที่ 2 จำนวน 42 ราย จากการประเมินในปลายปีที่ผ่านมา มีการจัดเป็นกลุ่มเอ พร้อมมาก กลุ่มบี พร้อมปานกลาง และ กลุ่มซี พร้อม (ในจังหวัดราชบุรีไม่มีเกษตรกรอยู่ในกลุ่มซี) ซึ่งเกษตรกรเซลล์ต้นกำเนิดจาก 135 ราย สามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่ม A ได้จริง จำนวน 92 ราย และกลุ่ม B จำนวน 32 ราย ทั้งนี้ กลุ่มเอ คือกลุ่มที่เกษตรกรมีความพร้อม ทำด้วยใจ เดิมเคยมีการดำเนินการอยู่แล้วบางส่วน มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะทำพืชเชิงเดี่ยว และทำงานรับจ้างอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ต้องผลักดันเกษตรกรทั้งหมดให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถขยับตัวขึ้นเป็นกลุ่มเอให้ได้ นอกจากนี้ในการดำเนินงานยังร่วมกับสถาบันการศึกษาได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง รวมถึงเอกชน ได้แก่ สยามคูโบต้า และ บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรหลักต้องทำควบคู่กับทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมทำให้เกษตรกรลดภาระค่าใช้จ่ายลง และใช้ผลผลิตจากทฤษฎีใหม่เลี้ยงชีพได้ ทำให้เกษตรกรมั่นคงได้เร็วขึ้น
“การลงพื้นที่วันนี้ เพื่อต้องการเข้ามาดูการดำเนินงานและความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ“5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ในพื้นที่จริง ไม่มีการเตรียมการเพื่อให้เห็นของจริง นำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนปลง เพื่อให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบในแปลงของ นายไพฑูรย์ ศิริองอาจ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ หมู่ 7 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม พบว่า เกษตรกรสามารถทำได้จริง คือลดรายจ่ายในครอบครัวได้ โดยเริ่มดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนถึงปัจจุบันมีผลผลิตหลากหลาย อาทิ มะละกอ ฟัก ข้าวโพด โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ ปลา ไก่ นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าวเป็นหลักจำนวน 29 ไร่ และแบ่งทำทฤษฎีใหม่ 2 – 3 ไร่ มีรายได้จากการขาย ลดรายจ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ขยายไปสู่เกษตรกรได้ทั่วถึงทุกอำเภอ จึงต้องกลับมาทบทวน"พลเอกฉัตรชัย กล่าว
สำหรับการตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 6 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองราชบุรี ว่า ผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ในจังหวัดราชบุรี ทั้งจังหวัดรวม 41 แปลง เกษตรกร 1,661 ราย พื้นที่ 20,000 ไร่ แบ่งเป็น แปลงใหญ่ปี 2559 รวม 3 แปลง ปี 2560 รวม 17 แปลง และ ปี 2561 รวม 21 แปลง (อยู่ระหว่างขออนุมติ) สำหรับแปลงใหญ่ข้าว ในตำบลเจดีย์หัก มีการรวมตัวกันของสมาชิก 67 ราย พื้นที่ 1,541 ไร่ รวมกลุ่มบริหารจัดการ โดยถลดต้นทุนการผลิต ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ รถไถ รถเกี่ยวข้าว ลดการใช้เมล็ดพันธุ์จากเดิม 30 – 32 กก./ไร่ เป็น 15 กก./ไร่ ส่วนการเพิ่มคุณภาพการผลิต ด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ อาทิ ข้าวพันธุ์ กข 43 มีการให้ความรู้พร้อมตรวจรับรองการผลิตตามมารตฐาน GAP โดยเกษตรกรที่เข้ารวมแปลงใหญ่จำนวน 67 ราย ผ่านการตรวจรับรองและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP 100% นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว จากเดิม 650 กก./ไร่ เป็น 750 กก./ไร่ มีการใช้เมล็ดพันธุ์ดี ปลูกปอเทืองปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ในส่วนของการตลาด มีการแปรรูปและจัดจำหน่ายในนามกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ กข 43 ที่มีการปลูกถึง 800 ไร่ จำนวนกว่า 600 ตัน โดยมีการจำหน่ายให้กับโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลโพธาราม