AEC Council พอใจผลการเดินหน้าตามพิมพ์เขียวสู่ AEC 2025 พร้อมรองรับ 23 แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 14, 2017 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงผลการหารือของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.60 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งไทยได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่าอาเซียนต้องให้ความสำคัญของการเสริมสร้างผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย หรือ MSMEs ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในขณะนี้ และดำเนินการแก้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวได้อย่างเต็มที่

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้หารือความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งที่ประชุม AEC Council ได้รับรองแผนงานรายสาขา (Sectoral Work Plans) ได้ครบถ้วนทั้ง 23 แผนงาน โดย 3 แผนงานสุดท้ายที่ได้รับรอง คือ (1) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568 (2) แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาค และ (3) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านภาษีอากร ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านภาษีอากร เช่น การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดทำความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้แล้วเสร็จ การขยายขอบเขตโครงสร้างภาษีหัก ณ ที่จ่าย การปรับปรุงการปฏิบัติงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการนับจากนี้จนถึงปี 2568

รวมทั้งที่ประชุมครั้งนี้ได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค โดยเอกสารดังกล่าวจะเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบภายในการประชุมผู้นำอาเซียนในครั้งนี้

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรายงานของ AEC Council ต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งมีข้อเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณา ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขา และเสาหลักของประชาคมอาเซียน การให้ประเทศสมาชิก RCEP แสดงความยืดหยุ่นและปรับระดับความคาดหวัง เพื่อให้การเจรจาความตกลง RCEP บรรลุผล และการหารือในระดับนโยบายทั้งภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเอง และระหว่าง 3 เสา เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมทุกภาคส่วน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนที่ได้ผลักดันประเด็นสำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น การวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและเยาวชน การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs) เป็นต้น และร่วมกันเสนอแนะประเด็นสำคัญที่ควรสานต่อในวาระที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียนในปี 2561 เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการส่งเสริมการค้าบริการ เป็นต้น

ในปี 2559 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมูลค่ารวม 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นอกจากอาเซียนจะค้าขายกันเองมากที่สุดแล้ว คู่ค้ารายใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ