นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการประชุม Competitiveness and Inclusive Growth : Navigating towards Thailand 4.0 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ World Economic Forum (WEF) จะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.นี้ว่า จะเป็นการหารือระหว่างผู้แทนจากหลากหลายกลุ่มเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในอนาคตตั้งแต่บัดนี้
โดยในปี 2017 นี้ WEF ได้จัดอันดับความแข่งขันของไทยเป็นลำดับที่ 32 เป็นการเพิ่มขึ้น 2 อันดับจากเดิมที่ 34 โดยมีเรื่องที่ทำได้ดีขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐานของไทยที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งคุณภาพถนน โครงสร้างระบบราง ท่าเรือ การขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์มือถือ ไทยขยับขึ้นมาจากอันดับ 55 ในปีที่แล้ว มาอยู่อันดับ 5 อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา จากอันดับที่ 84 มาอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก รวมถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 20 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอีกหลายประเด็น ทั้งด้านประสิทธิภาพแรงงาน ด้านสภาพแวดล้อม ด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และที่สำคัญคือด้านนวัตกรรม และด้านความพร้อมเทคโนโลยีที่ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย ทำให้ปีนี้ WEF ไม่มีคำแนะนำประเทศไทยแบบเฉพาะเจาะจง แต่ให้คำแนะนำทั่วไป คือ การใช้นวัตกรรมควรพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว WEF มองว่าไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงอีกหลายด้าน ซึ่งการมาจัดการประชุมของ WEF ในครั้งนี้ จะนำเสนอประเด็นที่เห็นว่าไทยควรเดินหน้าพัฒนาให้เร็วขึ้น ได้แก่ (1) การพัฒนาด้านสถาบันเพื่อให้มีธรรมาภิบาล (2) การปรับ/ลดกฎระเบียบเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของตลาดและสินค้า (3) การสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และ (5) การพัฒนาการศึกษาและทักษะ โดยทาง WEF ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอประเด็นเหล่านี้อย่างลึกและตรงไปตรงมา และจะเสนอให้ไทยให้ความสำคัญกับการมีนโยบายเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (inclusive growth policy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า งานครั้งนี้นอกจากมีรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแล้ว จะมี CEO ของบริษัทชั้นนำ เช่น ปตท., ไทยเบฟ, ซีพี, ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นสมาชิกของ WEF ร่วมเป็นผู้อภิปราย พร้อมกับตัวแทนจาก Oxfam UNDP ESCAP ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระหว่างประเทศ เช่น PwC และยังมีผู้แทนจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ กลุ่มเกษตรกรออร์แกนิค บริษัทขนาดกลางที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี SME และหอการค้าต่างประเทศในไทย เข้าร่วมระดมความคิดเห็น โดยเป้าหมายคือ หาแนวทางนโยบายให้ภาครัฐและภาคเอกชนในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกอย่างรวดเร็ว
"การจัดงานของ WEF เรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทยครั้งนี้ มั่นใจว่าจะช่วยเสริมการจัดทำแผนปฏิรูปของไทย ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ เชื่อว่าจะได้ความคิดและข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมและนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจได้ต่อไป" นางอภิรดีกล่าว