รมว.คมนาคม คาดตอกเสาเข็มไฮสปีดเทรนตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก กลาง ธ.ค.60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 15, 2017 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่า เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 243/2560 ลงวันที่ 27 ก.ย.60 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการ ด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เพื่อยกระดับจากคณะกรรมการบริหารชุดเดิม ปรับปรุงโครงสร้างบริหารงาน โดยให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งสำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดเพื่อเป็นหน่วยงานด้านงบประมาณและจัดบุคลากรของโครงการในระยะยาว

ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือในการจัดตั้งองค์กรสำหรับบริหารการเดินรถ 2.คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยมี รมช.คมนาคม เป็นประธาน

3.คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง หรือเป็นการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ ซึ่งช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มี 6 สถานีใหญ่ เพื่อให้ผู้โดยสารจากต่างอำเภอสามารถเดินทางเข้าถึงได้ โดยพิจารณาเรื่องระบบรถไฟท้องถิ่น ตารางเวลาการเดินรถที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็ว และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถเมล์เข้าเมือง รถระหว่างเมือง และ 4.คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมือง ต่อยอดจากโครงการรถไฟความเร็วสูงให้เมืองมีการเติบโต นอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่ในสถานีและรอบสถานี

รมว.คมนาคม กล่าวว่า แผนการดำเนินงานรถไฟความเร็ว ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ขณะนี้เตรียมก่อสร้าง ตอนที่ 1 สถานีกลางดง-สถานีปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.60 โดยจะมีการกำหนดวันที่ชัดเจนร่วมกับจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 23 ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ จะเร่งรัดกระบวนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ยื่นรายงาน EIA ครั้งที่ 7 แล้ว และจะขอให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเริ่มต้นก่อสร้างให้ได้กลางเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับการก่อสร้างนั้น ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ได้รับมอบแบบรายละเอียดก่อสร้างจากจีนอย่างเป็นทางการแล้ว และจะมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้าง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นผู้เบิกจ่ายงบก่อสร้างต่อไป ส่วนตอนที่ 2,3,4 นั้น ในสัญญากำหนดให้จีนทยอยส่งแบบให้ภายใน 6 เดือน เพื่อดำเนินการประมูลผู้รับเหมาต่อไป ซึ่งจะจัดทำแผนการก่อสร้างทั้งหมดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ คาดว่า น่าจะสามารถทยอยเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 1/61 เพื่อให้การก่อสร้างเกิดความต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 23 จะหารือในแผนการก่อสร้าง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และแผนการทำงานเชื่อมต่อกับสปป.ลาว

สำหรับแหล่งเงินในการก่อสร้างน่าจะเป็นเงินกู้ภายในประเทศทั้งหมด ส่วนระบบตัวรถยังต้องรอการเจรจากับจีนให้เรียบร้อยก่อน โดยระยะเวลาก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย ให้ต่อเชื่อมพอดีกับที่เส้นทางใน สปป.ลาว จะเสร็จในปี 65 ซึ่งทางฝั่งไทยจะก้าวหน้ากว่า และเป็นระบบทางคู่ ขณะที่ทาง สปป.ลาวเป็นระบบทางเดี่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ