นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “มองอินเดียใหม่...ความท้าทายและโอกาสที่คาดไม่ถึง" ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาและเรียนรู้ตลาดอินเดียเชิงลึก พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดอินเดีย เพื่อลดต้นทุนและสร้างโอกาสแข่งขันให้กับสินค้าไทย
กรมฯ มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังมีเงินทุนไม่มากพอจะไปลงทุนในอินเดีย อาจจะลองส่งออกสินค้าไปขายที่อินเดียก่อน โดยเริ่มจากการหาคู่ค้าที่ไว้วางใจได้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายในอินเดีย เพื่อจะประเมินการตอบรับของตลาดว่ามีความสนใจสินค้าชนิดนั้นๆ มากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากประเทศอินเดียมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก ทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่า การนำสินค้าไทยไปจำหน่าย เมื่อบวกต้นทุนการผลิต รวมอัตราภาษี ค่าขนส่ง ก็จะทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นหลายเท่า ผู้ประกอบการควรจะศึกษาเรื่องการใช้สิทธิพิเศษการส่งออกแบบได้รับการยกเว้นภาษี ผ่านการใช้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งปัจจุบันการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างไทยและอินเดียสามารถเลือกใช้ FTA ได้ 2 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย โดยการนำเข้าภายใต้เงื่อนไขการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจะช่วยลดภาระในเรื่องของการจ่ายภาษีศุลกากรตอนสินค้านำเข้าอินเดียได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยถูกลงได้ หากไม่มีภาระในการจ่ายภาษีดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตัวอย่างสินค้าไทยที่ส่งออกและมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ FTA ดังกล่าว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต ฟีนอล ออกไซด์เรซิน ตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็ง ลวดทองแดงและส่วนประกอบเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) มีการขอใช้สิทธิ FTA ไทย-อินเดีย ส่งออกมูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ FTA อาเซียน-อินเดีย มีการส่งออกมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ผลจากการที่อินเดียมีนโยบาย Make in India โดยดึงดูดบริษัทอินเดียและต่างชาติลงทุนสร้างโรงงานผลิต โดยมุ่งเน้นใน 25 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อากาศยาน เทคโนโลยีชีวภาพ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิคส์ การแปรรูปอาหาร IT และ Business Process Management (BPM) เครื่องหนัง สื่อและอุตสาหกรรมบันเทิง เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ ยารักษาโรค การท่องเที่ยวและการบริการ เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เพราะอินเดียมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด หากไทยเข้าไปลงทุน นอกจากการทำตลาดในอินเดียแล้ว ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ทั้งบังคลาเทศและปากีสถาน ซึ่งมีสิทธิพิเศษการส่งออกยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน (ภาษีร้อยละ 0) ได้ด้วย
นายสุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมการเสวนาฯ กล่าวว่า การจัดสัมมนาของกรมการค้าต่างประเทศในครั้งนี้ นับเป็นการจัดงานในจังหวะที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะเผยแพร่ข้อมูลและโอกาศทางการค้าของอินเดียในเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ที่สนใจที่จะไปลงทุนยังประเทศอินเดีย เนื่องจากจะมีการนำเสนอการ “มองอินเดียใหม่” ในทุกมิติ เช่น ด้านความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้รู้ลึก และรู้จริงเกี่ยวกับอินเดียในทุกมิติ จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย
ตลาดอินเดียในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปมาก เน้นส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวประมาณปีละ 7 - 8% อีกทั้งรสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคของชาวอินเดียก็เปลี่ยนไปมาก มีกระแสความนิยมในการจับจ่ายใช้สอยในวิถีสมัยใหม่ ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าแบรนด์ดังระดับโลกรุกคืบเข้าอินเดียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แม็คโดนัลด์ ซึ่งมีมากกว่า 250 สาขาทั่วประเทศ กาแฟ Starbucks ซึ่งเข้าไปอินเดียขยายสาขาได้ถึง 52 สาขา เฉพาะที่มุมไบเมืองเดียวก็มีถึง 20 สาขาแล้ว ส่วน KFC ก็ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 500 ในอินเดีย ล่าสุด บริษัทของญี่ปุ่นก็ได้เข้าไปลงทุนรถไฟความเร็วสูงแล้ว แต่สำหรับนักลงทุนไทย ยังมีเพียงไม่กี่ราย ทั้งๆ ที่โอกาสมีมาก