นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไทยในปี 61 จะอยู่ที่ 3.8% ใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะนอกจากจะมีภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังจะมีเรื่องการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริม เนื่องจากหลายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการที่จะเริ่มเดินหน้าในปีหน้า ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็จะเริ่มขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้น และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
"ปีหน้าการบริโภคและการลงทุนในประเทศจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้"นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งจากสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปี ไม่ว่าจะเป็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ล่าสุดได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.8%
ปัจจัยที่มองว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นกว่าช่วงต้นปี มาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน และกระจายตัวไปในทุกกลุ่มสินค้า, การบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากอานิสงส์เรื่องการส่งออกที่ดี และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในการนำมาจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนก็เริ่มจะขยับหลังจากที่ชะลอตัวมานาน ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการเริ่มมีการนำเข้าสินค้าทุน และเครื่องจักรเพื่อนำใช้ผลิตสินค้า
อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคเกษตรอาจจะยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวขงอเศรษฐกิจในขณะนี้ เนื่องจากรายได้เกษตรกรได้รับผลกระทบภายหลังมีการยกเลิกการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับในปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี ส่งผลให้สินค้าเกษตรได้รับความเสียหาย และทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งยอมรับว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนค่อนข้างมาก เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนของไทยถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ถือว่าเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย
"นี่จึงเป็นเหตุให้คนมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ ไม่ได้กระจายตัว เพราะเรายังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นชนักติดหลัง เพราะหากเทียบกับวัฎจักรในรอบก่อนๆ หากเศรษฐกิจดีในระดับนี้ อาจจะเห็นการใช้จ่ายที่มากขึ้น เนื่องจากไม่มีภาระหนี้สินมากแบบทุกวันนี้" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวในหัวข้อ "SMEs ไทยก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0"
นายวิรไท ยังกล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องให้ความสำคัญในช่วงจากนี้ต่อไป คือ 1.การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และช่วยลดต้นทุนในการผลิตลง 2.การบริหารความเสี่ยง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ดังนั้นจะต้องเลือกใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงทางการเงินให้เหมาะสม
"อย่าชะล่าใจว่าจะมีใครคอยดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญล้วนมาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาธุรกิจมักจะมาทำบริหารความเสี่ยงในบางช่วงเวลา เช่น เวลาที่ค่าเงินผันผวนมากๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นไปอีก ซึ่ง ธปท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจะหาเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ให้แก่ SMEs เช่น การทำ FX Option ซึ่งเป็นการให้สิทธิในการ Lock Rate อัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นการช่วยลดความผันผวน และเป็นการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ประกอบการได้" นายวิรไท กล่าว
3.ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Payment ซึ่งขณะนี้พบว่าประชาชนมีแนวโน้มให้ความสนใจมาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะพร้อมเพย์ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจในการทำธุรกรรมทางการเงินลงได้
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาให้แก่ภาค SMEs ในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นการช่วยเหลือในแง่ของการใช้นโยบายทางการเงิน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่ลืมเรื่องการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญกว่า ซึ่งในส่วนนี้ยอมรับว่าอาจจะต้องใช้เวลา