นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมเปิดการสัมมนา “Thailand - Japan Railway Partnership for Connectivity Success Sharing Advanced SHINKANSEN Technologies & Area development" เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงว่า การนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยของรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่หรือภูมิภาคที่เหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกระดับอย่างแท้จริงและทั่วถึง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการสัมมนา จำนวนกว่า 250 คน
"ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูง การนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่ออย่างบูรณาการ การพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง และการเพิ่มประสิทธิภาพบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ วันนี้จึงเป็นการนำเสนอก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ที่ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกัน"นายอาคม กล่าว
ด้านนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อดีของระบบรถไฟ SHINKANSEN คือมีความตรงต่อเวลาและความปลอดภัย ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในอนาคต โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรรถไฟ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมแล้วกว่า 10,000 คน ณ ศูนย์ฝึกอบรม กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบทตลอดแนวเส้นทางโครงการอย่างมีแบบแผน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยต่อไป
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ Railway Development and Long Term Plan in Thailand โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการพัฒนารถไฟ ในประเทศไทย รวมถึงการวางแผนพัฒนาในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นหลากหลายสาขาที่มาร่วมบรรยายและให้ข้อมูล โดยเน้นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการระบบรถไฟความเร็วสูงประสบความสำเร็จ เช่น ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาพื้นที่หรือภูมิภาค เพื่อเสริมประสิทธิผลของโครงการและแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การสัมมนายังมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมถึงโครงการอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟแบบบูรณาการ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ รอบสถานีขนส่งมวลชนและเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วย การสนับสนุนการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2หรือ M-MAP2 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลขนทางรางในเส้นทางใหม่ๆ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลควบคู่กัน โดยจะมีการกำหนดนโยบายพื้นฐานในเดือนมีนาคม 2561 นี้
และในช่วงสุดท้ายเป็นการนำเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างนักลงทุนชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ในด้านระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนสู่ทางราง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งได้ โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่รัฐบาลไทยในการพัฒนาโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน