ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองบาทระยะสั้นยังแข็งค่า หลังดอลล์อ่อนจากขาดปัจจัยใหม่หนุน แนะภาคธุรกิจติดตามใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 17, 2017 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์เงินบาทในระยะสั้นว่า เงินบาทอาจจะยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคาดว่าทิศทางของค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 ยังน่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่สถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอาจจะชะลอลงในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงสิ้นปี

สำหรับในช่วงนี้ที่เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ฯ มาที่ 32.83 บาท/ดอลลาร์ฯ นับเป็นสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 30 เดือน ทั้งนี้ สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นภาพที่สอดคล้องกับกระแสการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย เพราะมีสาเหตุหลักร่วมกันจากทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งในช่วงนี้ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม หลังจากตลาดทยอยรับรู้โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือนธ.ค.ที่จะถึงนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในทางกลับกันปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ฯ กลับมีเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปร่วมกันในสภาคองเกรส

นอกจากเงินดอลลาร์ฯ จะขาดปัจจัยบวกแล้ว หากกลับมามองปัจจัยในฝั่งของเงินบาท ต้องยอมรับว่าดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่องของไทย นับเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างสำคัญที่หนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่า (เพราะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่มีผลต่อเนื่องให้การฟื้นตัวของการนำเข้ายังคงอยู่ในกรอบจำกัด) โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไทยบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ขณะที่ภาพรวมสำหรับ 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินต่างชาติไหลเข้าในส่วนที่มาลงทุนในหลักทรัพย์ รวมกันประมาณ 45.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (ซึ่งยังคงใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน) แบ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 36.1 พันล้านดอลลาร์ฯ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 9.24 พันล้านดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังคงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จะเป็นเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันแผนปฎิรูปภาษีของสหรัฐฯ ในสภาคองเกรส ตลอดจนสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีหน้า

สำหรับปัจจัยที่กำหนดทิศทางของเงินบาทในปีหน้า มองว่า ปัจจัยพื้นฐานจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีโอกาสเกินดุลต่อเนื่อง (ที่ประมาณ 38.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามตัวเลขคาดการณ์ของธปท.) อาจจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนทิศทางเงินบาท เพราะแม้เงินดอลลาร์ฯ จะยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปีข้างหน้า ตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทยอยลดงบดุล และอาจมีแรงหนุนเพิ่มเติมหากแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้ แต่คงต้องยอมรับว่าปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ (ซึ่งอาจจะมีผลให้เงินบาทขยับอ่อนค่า) ทั้ง 2 เรื่องนั้น ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องจังหวะเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระหว่างปี และช่วงเวลาที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนของการเดินหน้าได้จริงแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ

ดังนั้น ความผันผวนของสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ฯ จึงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่ากระแสรายรับของผู้ประกอบการภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่กว่า 77% ของการส่งออกรวม จะเป็นรายรับในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงและความผันผวนเมื่อแปลงกลับมาเป็นรายได้ในรูปเงินบาทตามจังหวะเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่า (ขณะที่รายรับที่อยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งปลอดภัยจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีสัดส่วนเพียง 14% ของการส่งออกรวม)

นอกจากนี้ การเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด และออปชั่น คงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมิน/รับรู้/บริหารจัดการรายได้จากการส่งออก (หรือรับรู้ต้นทุนนำเข้าในช่วงที่เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า) ที่มีความแน่นอนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ