สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/60 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส และถือว่าขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม ส่วนในด้านการผลิต มาจากแรงหนุนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ค้าส่ง-ค้าปลีก สาขาไฟฟ้า ก๊าซ โรงแรม ภัตตาคาร สาขาขนส่ง และคมนาคม ในขณะที่สาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ส่งผลให้โดยรวมแล้วในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.60) เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.8%
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3/0 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น และกระจายตัวได้มากขึ้นทั้งในด้านจำนวนสินค้าและตลาดส่งออก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง
ด้านการเงินนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว แม้ทิศทางของนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักจะมีทิศทางตึงตัวขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวลดลงตามการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.4% เร่งขึ้นจาก 0.1% ในไตรมาสที่ 2/60 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลง
ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก และการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน
อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์ GDP ของไทยทั้งปี 60 เป็นขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 3.5-4.0% หรือค่ากลางที่ 3.7% และคาดการณ์ GDP ในปี 61 จะเติบโตในช่วง 3.6-4.6%
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ในระดับสูงเช่นเดียวกับไตรมาส 3 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการณ์ GDP ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.9% จากเดิมที่ 3.7% (กรอบ 3.5-4.0%) โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 8.6% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% และการลงทุนรวมขยายตัว 2.0% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 46.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 10.4% ต่อ GDP