นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือน ต.ค.60 หดตัวจากการปรับตัวลดลงของราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่ ขณะที่ราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนาไม จะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค คาดแนวโน้มรายได้เกษตรกรในเดือน พ.ย.60 ยังลดลงต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือน ต.ค.60 ลดลง 2.42% จากเดือน ต.ค.59 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ราคาจึงเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ, ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และสุกร เนื่องจากภาวะฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคชะลอตัว
ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการร่วมมือกันระหว่าง 3 สมาคมมันสำปะหลังในการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับส่งออกมันเส้น โดยไม่ขายตัดราคากัน, ไก่เนื้อ เนื่องจากปริมาณผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และกุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อการส่งออกสูงขึ้น
ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ต.ค.60 ลดลง 1.57% จากเดือน ต.ค.59 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และลองกอง ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม
ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้ของเกษตรกรวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือน ต.ค.60 ลดลง 3.96% จากเดือนต.ค.59 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง
หากมองผลวิเคราะห์แนวโน้มดัชนีสินค้าเกษตร พบว่า เดือน พ.ย.60 แนวโน้มรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าจะลดลง 4.61% จากเดือน พ.ย.59 เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง 5.19% โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.61% โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่
แนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญเดือน พ.ย.60 พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. และกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสภาเกษตรกร ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่แท้จริงตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด พบว่า ข้าวหอมมะลิ ปี 2560/61 มีผลผลิตประมาณ 7.16 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจรที่ตั้งไว้, ข้าวเหนียวนาปี ปี 2560/61 มีผลผลิตประมาณ 5.73 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายจำนำยุ้งฉางภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกำหนดราคารับจำนำที่ 90% ของราคาเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ 10,800 บาทต่อตัน ซึ่งได้รับการตอบรับดีโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีโรงสีนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน ส่งผลให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวปริมาณฝนลดลง ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นที่ลดลง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านโมเดลไตรภาคีเชื่อมโยง รับซื้อผลผลิต และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรเพื่อการรวบรวมผลผลิต
มันสำปะหลัง คาดว่าดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตมันเส้นสะอาดกับโรงงานเอทานอลและมีการเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์
กุ้งขาวแวนนาไม ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาเดือน พ.ย.60 คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวและอาจปรับตัวลงจากเดือน ต.ค.60 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไข่ไก่และสุกร จากผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เดือน ธ.ค.60 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรคาดว่าอยู่ในระดับทรงตัว ด้านดัชนีราคาคาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค.59 ขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และสับปะรด