ชาวสวนยางยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำ-ติดตามความคืบหน้าผลสอบผู้บริหารกยท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 21, 2017 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) พร้อมด้วยตัวแทนชาวสวนยาวกว่า 10 คน เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อยื่นหนังสือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีตัวแทนรัฐบาลเป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว นายสุนทร ระบุว่า จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างผิดปกติจนนำมาสู่วิกฤิตยางพาราไทย ส่งผลกระทบให้ชาวสวนยางทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และมีความไม่มั่นคงในอาชีพ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุยางพาราตกต่ำนั้นมองว่าสาเหตุสำคัญมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งผู้บริหาร กยท.ที่มิได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อ กยท.แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นสมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.การยางฯ ดังนี้ 1.ให้ กยท.แก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถจดทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ตามมาตรา 4 ซึ่งจะทำให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้ซึ่งจ่ายภาษี CESS เข้าถึงสิทธิและผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การยางฯ 2.ให้ กยท.แก้ไขระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยาง เพื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49(5) ในรูปแบบสังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอและมติในที่ประชุมเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ พร้อมกับข้อเสนอแนะเร่งด่วน ให้กยท.จ่ายเงินสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางแก่คนกรีดยางรายละ 3,000 บาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือในช่วงที่เกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ 3.ให้ กยท.แก้ไขระเบียบว่าด้วยการปลูกแทนตามมาตรา 49(2) เพื่อให้ชาวสวนยางปรับเปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวมาทำสวนยางอย่างยั่งยืน ด้วยการลดจำนวนต้นยางให้เหลือ 40 ต้น/ไร่ เพื่อปลูกพืชร่วมยาง ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง โดยให้ กยท.จ่ายค่าชดเชยการปลูกแทนบางส่วนสำหรับสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ส่วนอัตราการจ่ายค่าชดเชยการปลูกแทนบางส่วนนั้นให้ขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง 4.ให้ กยท.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน เพื่อใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43(2) ในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต้องลดจำนวนต้นยางให้เหลือ 40 ต้น/ไร่ และปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ต้น/ไร่ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่ายางที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสมดุลนิเวศ ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือเพิ่มพื้นที่ป่าให้แก่ประเทศ 5.ให้ กยท.จัดทำยุทธศาสตรและแผนแม่บทว่าด้วยการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง ทั้งนี้ให้ กยท.สนับสนุนงบประมาณการทำงานวิจัย เพื่อหารูปแบบทางเลือกและทางรอดของชาวสวนยาง และสร้างเสริมสุขภาวะแก่ชาวสวนยาง 6.การแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้กลไก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ตามข้อ 1-5 ให้ กยท.ตั้งคณะอนุกรรมการ โดยชาวสวนยางมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง "เราอยากเสนอข้อมูลที่แท้จริงให้กับนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้มีเจตนาจะมาไล่ใครออก ที่ผ่านมานายกฯ ฟังข้อมูลข้างเดียวจากข้าราชการที่พยายามปกปิดข้อมูลในการบริหารการยางที่ล้มเหลว ไปเชื่อข้อมูลผิดๆ...วันนี้เราอยากมายื่นหนังสือถึงท่านนายกฯ เพื่อชี้แจงถึงวิธีแก้ปัญหายางพาราที่ถูกต้องและยั่งยืน" นายสุนทร กล่าว สำหรับกรณีข้อเสนอให้ปลดคณะกรรมการ กยท.นั้น นายสุนทร กล่าวว่า ขณะนี้ก็ครบกำหนดเวลา 7 วัน ที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าความคืบหน้าของการตรวจสอบเป็นอย่างไร ในขณะที่ข้อเสนอให้ยกเลิกบริษัทร่วมทุนฯ นั้น ทาง สคยท.จะมาติดตามกรณีนี้ต่อไป "เราคงไม่เกี่ยงเรื่องเวลา ขอแค่ให้นายกฯ นำเอกสารไปดู หากรัฐบาลยังเพิกเฉย พวกผมคนใต้ก็อยากมาเตือนว่าอย่าให้เป็นกรณีน้ำผึ้งหยดเดียว หากยางพารายังราคา 3 กิโล 100 ผมว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อให้มีกฎหมายก็คงจะใช้บังคับไม่ได้ เพราะพวกผมจะยอมทำผิดกฎหมายมากกว่ายอมให้ลูกต้องอดตาย" นายสุนทรกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ