นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการดำเนินปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ก่อนจำนวน 2 เรื่อง เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นการปลดล็อคร่างกฎหมายการอำนวยความสะดวกฯ ลดขั้นตอนการอนุญาตของทางราชการ และการหามาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพของผู้เคยต้องคำพิพากษา ได้แก่
1.ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการให้มีความชัดเจนขึ้น ให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภทที่มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาต ประกอบกับเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 และมาตรา 258 ค. (1) ที่กำหนดให้ใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น เช่น กำหนดให้การขอต่อใบอนุญาตมีผลเป็นการต่อใบอนุญาต หากได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้วในกรณีไม่ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามใบอนุญาต และให้การยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตในกรณีต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามใบอนุญาตเป็นการต่ออายุใบอนุญาตไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งภายหลังการตรวจสอบ รวมทั้งให้มีการต่อใบอนุญาตโดยมิต้องชำระค่าธรรมเนียมโดยต้องมีการตรวจสอบ เมื่อผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอ อยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาต จนกว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ต้องต่อใบอนุญาตซึ่งต้องกระทำหลังตรวจสอบ และกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต แจ้งการสูญหายหรือการถูกทำลายของใบอนุญาตโดยไม่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และกำหนดให้ใบอนุญาตเป็นภาษาไทย และภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการแปลและรับรองเอกสาร เป็นต้น
โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบและให้ส่งร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นและตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.มาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพของผู้เคยต้องคำพิพากษา มีสาระสำคัญจากการศึกษาพบว่า มีกฎหมายที่กำหนดลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพหรือการงานของผู้เคยต้องคำพิพากษา ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามฯ ทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติหรือจำกัดเสรีภาพการประกอบอาชีพของผู้เคยต้องคำพิพากษา ปัญหาการส่งผลกระทบต่อภารกิจของการฟื้นฟูผู้กระทำผิด และปัญหาการไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอนในการตรากฎหมาย และความไม่เป็นเอกภาพของบทบัญญัติกฎหมาย การกำหนดลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพและเป็นภาระแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เคยต้องคำพิพากษาซึ่งได้รับผลกระทบในการเลือกประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีพในสังคม
โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการและมอบฝ่ายเลขานุการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ครอบคลุมในกรณีอื่นที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีต้องคำพิพากษา โดยส่งความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะก่อนเสนอความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป