รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วงอำเภอหนองหาน - อำเภอพังโคน ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วงสกลนคร - นครพนม (กิโลเมตรที่ 180 - 213) และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด - ยโสธรว่า กระทรวงการคลังได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้เพื่อพิจารณา โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กรมทางหลวงดำเนินโครงการฯ ร่วมกับเงินงบประมาณวงเงินรวม 6,808 ล้านบาท ในสัดส่วน 50 : 50 และอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจาก ADB สำหรับโครงการฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าการลงนามในสัญญาเงินกู้กับ ADB สำหรับโครงการฯ จะมีขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2561
สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ ดังกล่าว มีกรอบวงเงิน 99.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ากับ 3,404 ล้านบาท อายุเงินกู้ 13 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6MLIBOR + Spread – Rebate ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 6MLIBOR เท่ากับ ร้อยละ 1.63 ต่อปี Spread เท่ากับร้อยละ 0.50 ต่อปี Rebate เท่ากับร้อยละ 0.05 ต่อปี) ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ (Commitment Charge) ร้อยละ 0.15 ต่อปี กำหนดเบิกจ่ายเงินกู้ในคราวเดียวทั้งจำนวน โดยจะดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินกู้จากสกุลเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินบาท และดำเนินการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย (Cross Currency Swap : CCS) และกระทรวงการคลังจะทยอยเบิกจ่ายเงินกู้ให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้าง และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างตามความก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของโครงการฯ ต่อไป
โดยกระทรวงการคลัง กรมทางหลวง และ ADB จะร่วมกันติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ และตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และครบถ้วนตามมาตรฐานการเบิกจ่ายของ ADB
ในส่วนของแผนดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีกำหนดการเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม 2561และมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4.5 ปี โดยเมื่อกรมทางหลวงดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเชียน (AH) ในส่วนที่ผ่านประเทศไทย เพื่อให้สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมโยงไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East – West Economic Corridor : EWEC) ที่คาดว่าจะมีปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในด้านการพัฒนาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน