ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งการให้เจ้าของอาคารดิเอทัสรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในซอยร่วมฤดีและซอยร่วมฤดี 2 ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาฯ ให้ถูกต้องครบถ้วน หรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร ศาลจะไต่สวนเพื่อมีคำสั่งปรับและแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย
วันนี้ ศาลปกครองได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ น.พ.สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก รวม 24 คน ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กับพวก รวม 2 คน และบริษัท ลาภประทาน จำกัด กับพวก รวม 2 คน ผู้ร้องสอด
สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดำเนินการกับบริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร แล้วแต่กรณี ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งในชั้นบังคับคดี เนื่องจากผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร
ศาลปกครองกลาง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีคำสั่งในชั้นบังคับคดีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วน ผู้อำนวยการเขตปทุมวันจึงได้มีคำสั่งตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไปยังบริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร ให้รื้อถอนอาคารทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
แต่เมื่อครบกำหนดเวลา บริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร ไม่มีการรื้อถอนอาคาร ขณะที่ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวในการเข้ารื้อถอนอาคาร จึงถือเป็นกรณีที่ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนและได้ปฏิบัติล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อความล่าช้านั้นเกิดจากการที่อาคารของบริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร มีลักษณะเป็นอาคารสูง และขนาดใหญ่พิเศษ อีกทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบของอาคาร ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย อาคารพาณิชย์ สถานรับเลี้ยงเด็ก และถนนสาธารณะที่มีรถผ่านเข้าออกตลอดเวลา การดำเนินการรื้อถอนจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและมีผู้ชำนาญการเข้ามาดำเนินการ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณในการรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 โดยจะมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย มีกำหนดระยะเวลารื้อถอนอาคารประมาณ 365 วัน จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดล่าช้า มิได้เกิดจากการจงใจแต่เพราะมีเหตุอันสมควร
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งในชั้นบังคับคดี ดังนี้
(1) ยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คนที่ขอให้ศาลสั่งปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและแจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัยกับผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.
(2) ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วน โดยใช้อำนาจตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดำเนินการกับบริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร ต่อไป
(3) ให้สำนักบังคับคดีปกครองติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และรายงานให้ศาลปกครองกลางทราบทุกระยะจนกว่าจะมีการปฏิบัติครบถ้วน
(4) หากผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องครบถ้วน หรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร ศาลจะไต่สวนเพื่อมีคำสั่งปรับผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม. และแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยกับผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป