สหภาพแรงงานยาสูบ ร้องก.คลัง เหตุกม.สรรพสามิตใหม่เปิดช่องบุหรี่นอกตีตลาด ทำรายได้โรงงานยาสูบหด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 24, 2017 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ พร้อมด้วยตัวแทนสหภาพฯ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ รมว.คลัง เรื่องขอความเป็นธรรมจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยมีนายจิระ พันธ์คีรี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ที่ยื่นต่อกระทรวงการคลัง ระบุว่า จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.60 เป็นต้นมานั้น ส่งผลกระทบให้โรงงานยาสูบมียอดการจำหน่ายบุหรี่ลดลงจากปีงบประมาณ 60 คิดเป็น 41% เนื่องจากบทบัญญัติและหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เปิดช่องให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศท้าท้ายเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยการลดราคาบุหรี่จากเดิมเพื่อเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของบุหรี่ไทย และการบริโภคบุหรี่ภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถซื้อบุหรี่ต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง รวมทั้งมีการเชิญชวนให้ซื้อด้วแคมเปญลด แลก แจก แถม

ขณะเดียวกัน อัตราการจับกุมบุหรี่ผิดกฎหมายก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่าตัว จากฐานภาษีที่จัดเก็บตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการจัดเก็บทั้งด้านปริมาณและด้านมูลค่ารวมกัน โดยด้านมูลค่าได้กำหนดให้ใช้เกณฑ์ "ราคาขายปลีกแนะนำ" แต่บทบัญญัติดังกล่าวกลับไม่รัดกุมจนสามารถทำให้บุหรี่ต่างประเทศตัดสินใจลดราคาลงมาขัดกับเจตนารมณ์และกลไกตลาด ในอนาคตจะส่งผลให้ธุรกิจบุหรี่ของรัฐอย่างโรงงานยาสูบได้รับผลกระทบ จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของโรงงานยาสูบลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในอีก 2 ปีข้างหน้า อัตราภาษีจะถูกจัดเก็บบุหรี่ทุกตราเท่ากันหมด ส่งผลให้ท้ายสุดบุหรี่ต่างประเทศสามารถครอบงำตลาดบุหรี่ภายในประเทศไทย และสามารถยืนอยู่เหนือธุรกิจรัฐได้

จากสถานการณ์เช่นนี้ จะเกิดผลกระทบกับการดำเนินงานต่างๆ ของโรงงานยาสูบ เช่น การย้ายโรงงานผลิตยาสูบไปยังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา, การส่งมอบพื้นที่สำหรับสร้างสวนป่า "เบญจกิตติ" ความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานประจำ 2,950 คน และลูกจ้างอีกกว่า 1,000 คน เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบกว่า 20,000 ครัวเรือน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบธุรกิจของโรงงานยาสูบเป็นจำนวนมาก ทั้งต่อบรรดาผู้ประกอบการค้ายาสูบประเภทต่างๆ ของโรงงานยาสูบกว่า 5 แสนราย เกษตรกรผู้ผลิตใบยาอีกกว่า 1 แสนราย และผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงงานยาสูบจากยอดจำหน่ายที่ลดลง

"ทำให้ประมาณได้ว่าปีงบประมาณ 2561 จะนำส่งรายได้เข้ารัฐและภาษีต่างๆ ลดลงจากปีก่อน 13,267 ล้านบาท โรงงานยาสูบจะประสบภาวะขาดทุนประมาณ 1,575 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป คาดว่าจะประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทั่งโรงงานยาสูงจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ" แถลงการณ์ระบุ

ดังนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ในฐานะตัวแทนพนักงานยาสูบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 นั้น จึงขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานของภาครัฐที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขพร้อมกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยาวไกลของโรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นสมบัติชาติ เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติและพนักงานยาสูบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ