น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะโฆษกกรมธนารักษ์ ชี้แจงกรณีกรมเจ้าท่า เตรียมจะเสนอเรื่องการขอเปิดประมูลท่าเรือร้างที่ยังไม่มีผู้บริหารจัดการ 4 แห่ง ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) พิจารณา ในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่กังวลว่าจะมีเอกชนมายื่นข้อเสนอประมูลเพื่อเข้าบริหารจัดการท่าเรือดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากกรมธนารักษ์ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องอัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมว่า ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในการบริหารทรัพย์สิน โดยคิดผลตอบแทนจากมูลค่าทรัพย์สินที่จัดให้เช่า (ROA) ในอัตรา 4% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี ซึ่งประกอบด้วย ค่าเช่า 3% และค่าธรรมเนียม 1%
แต่เนื่องจากท่าเรือที่กรมเจ้าท่าจัดสร้างใช้วงเงินก่อสร้างค่อนข้างสูง ทำให้อัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสูงมาก ส่งผลกระทบต่อการหาผู้บริหารจัดการท่าเรือ กรมธนารักษ์จึงได้ปรับลดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมกรณีการจัดให้เช่าท่าเรือเชิงพาณิชย์ในอัตราต่ำกว่าหลักเกณฑ์มาตรฐานที่เรียกเก็บ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการท่าเรือที่ถูกทิ้งร้างไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- กรณีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการจะเรียกเก็บผลตอบแทนในอัตรา 0.3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี รวมกับส่วนแบ่งรายได้ 5% (กรณีมีรายได้เกินจุดคุ้มทุน) ซึ่งลดลงจากหลักเกณฑ์ปกติ 90%
- กรณีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าบริหารจัดการ จะเรียกเก็บผลตอบแทนในอัตรา 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี รวมกับส่วนแบ่งรายได้ 5% (กรณีมีรายได้เกินจุดคุ้มทุน) ซึ่งลดลงจากหลักเกณฑ์ปกติ 50-60%
- สำหรับระยะเวลาการเช่า กำหนดไม่เกิน 30 ปี มิใช่ 5 ปี ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
สำหรับท่าเรือร้างที่ยังไม่มีผู้บริหารจัดการ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด, ท่าเรือศาลาลอย จ.พระนครศรีอยุธยา, ท่าเรือคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และท่าเรือนครพนม จ.นครพนม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้มอบอำนาจให้กรมเจ้าท่าไปจัดหาผู้บริหารจัดการท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่เดือนก.ค.60 แล้ว และจะมอบอำนาจให้กรมเจ้าท่าจัดหาผู้บริหารท่าเทียบเรือร้างทุกท่าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป ประกอบกับการบริหารท่าเรือสาธารณะ ปัจจุบัน กรมเจ้าท่าต้องใช้เงินงบประมาณดูแลซ่อมแซมบำรุงรักษาเป็นเงินจำนวนสูงมาก และท่าเรือบางแห่งสามารถแบ่งพื้นที่บางส่วนมาใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนงบประมาณการดูแลได้ โดยเปิดประมูลหาเอกชนเพื่อบริหารจัดการ บำรุงรักษา และซ่อมแซมท่าเรือสาธารณะแต่ละแห่ง
"ขณะนี้ กรมธนารักษ์ได้ขอให้กรมเจ้าท่าทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ดังกล่าว เพื่อลดภาระงบประมาณในการดูแลบำรุงรักษา เกิดการใช้ประโยชน์ท่าเรือที่คุ้มค่า โดยกรมธนารักษ์ได้พยายามผลักดันและแก้ไขปัญหาที่ติดขัด เพื่อให้กรมเจ้าท่า สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือได้เกิดประโยชน์สูงสุด" น.ส.อมรรัตน์ กล่าว