นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ SOE CEO Forum 2017 ว่า รัฐบาลอยากให้รัฐวิสาหกิจช่วยเศรษฐกิจให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุน แต่อยากให้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นและรากหญ้า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งในปีหน้ารัฐบาลจะมุ่งเน้นเรื่องดังกล่าวเป็นวาระสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลมุ่งดำเนินการ ได้แก่ เรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความยากจน
"ปีหน้า รัฐบาลจะโฟกัสการแก้ปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจรากหญ้า ตอนนี้เรามีเครื่องมือมากมาย แต่ว่ามันไม่สามารถที่เชื่อมต่อกันได้ หากทำให้เชื่อมต่อกันได้ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะเข้มแข็งและทำให้คนจนหมดไป โดยรัฐบาลอยากเห็นรัฐวิสาหกิจทำงานที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนมากขึ้น" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บมจ. ปตท. (PTT), และ บมจ.การบินไทย (THAI) ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพด้านบุคลากรก็ควรจะมีการนำบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมาช่วยฝึกอาชีพให้คนในท้องถิ่น เพื่อให้มีทักษะในการทำงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น ซึ่งทุกรัฐวิสาหกิจควรทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นภายใน 1 ปี
นอกจากนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ในปีหน้าจะมีการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้หารือกับ รมว.คลังแล้วว่าสถาบันการเงินของรัฐจะต้องรวมตัวกันเข้าไปช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยไม่ต้องอ้างว่าจะมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาคนจนในท้องถิ่นมีหนี้มาก ไม่มีรายได้ ถ้าสถาบันการเงินของรัฐยังไม่ให้โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ คนจนดังกล่าวจะไม่มีเงินในการพัฒนาตัวเองหรือสร้างอาชีพ
โดยขณะนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำการเชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐทั้งหมด เพื่อให้เห็นข้อมูลในเชิงลึกเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในแต่ละภูมิภาคและรายอุตสาหกรรม โดยจะมีการตั้งสำนักงานขึ้นมาดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ และจะมีการแบ่งหน้าที่กันระหว่างสถาบันการเงินของรัฐว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใดสถาบันการเงินของรัฐใดจะเข้าไปดูแล โดยจะต้องทำให้เกิดได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะรัฐบาลมีเวลา 1 ปีที่เหลือในการทำงาน
นายสมคิด กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEBank) ปัจจุบันมีสาขา 95 แห่ง ซึ่งถือว่ามีสาขาน้อย แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับสถาบันการเงินอื่น ๆ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้นการช่วยเหลือก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขาเพิ่ม แต่จะทำให้การเห็นภาพและเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ตรงความต้องการ เป็นการคิดแบบนอกกรอบ ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMBank) ต้องไม่ช่วยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น แต่ต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปทำธุรกิจในต่างประเทศได้ เพราะเศรษฐกิจ CLMV มีการขยายตัวขึ้นมาก ก็ต้องเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเจาะตลาดเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เฉพาะทำธุรกิจอยู่แต่ในประเทศเท่านั้น
พร้อมระบุว่า ในการทำงานของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้อย่างก้าวกระโดด เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัวได้ 4.3% ถือเป็นตัวเลขการขยายตัวที่ไม่ธรรมดา จาก 2 ปีก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.8% เท่านั้น
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า อยากให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ช่วยรัฐวิสาหกิจรายเล็กให้เข้มแข็ง และทุกแห่งควรจะช่วยเหลือสังคมทั้งในการฝึกอาชีพ การสร้างงานเพื่อให้มีรายได้และพ้นความยากจน โดยที่ผ่านมาได้นำแนวคิดนี้ไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งรับผิดชอบผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการรัฐแต่ละจังหวัดเพื่อให้พ้นความยากจน และจะมีรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น กฟผ. ซึ่งมีโรงงานไฟฟ้าอยู่ที่ จ.ลำปาง ก็เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดมีงานทำและพ้นจากความยากจน
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจควรจะดำเนินการใน 2 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งปีที่ผ่านมาเคยให้นโยบายดังกล่าวแล้ว ได้แก่ 1. ความมีประสิทธิภาพ และ 2. การมีธรรมาภิบาล โดยในเรื่องการมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแข่งขันในตลาดโลกและตลาดในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
"หากยังดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ อาจจะอยู่ไม่ได้ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็จะต้องมีการปรับตัวเพื่อนำองค์กรไปสู่การแข่งขันได้ เพราะถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไป ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล ที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของรัฐวิสาหกิจ เพราะไม่มีระเบียบป้องกันเอาไว้ แต่รัฐบาลปัจจุบันแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีการแทรกแซงการทำงาน แต่ได้สั่งการให้ผู้บริหารไปดูกฎ ระเบียบ เพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะในอนาคตต้องมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแน่นอน" รมว.คลังกล่าว
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวเสริมว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ สคร. ขอให้รัฐวิสาหกิจรวมกลุ่มกัน 3 กลุ่ม เตรียมแนวทางในการใช้ Big Data และ Digital Transformation พัฒนางานที่จะตอบโจทย์นโยบายที่สำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การสนับสนุน SMEs 2.การเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชน และ 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละกลุ่มใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่สามารถตอบโจทย์สำคัญดังกล่าวได้อย่างตรงจุด โดยสรุปได้ดังนี้
1.กลุ่ม SME Intelligence ประกอบด้วย สถาบันการเงินของรัฐ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้นำเสนอโครงการ SME Intelligence เป็นการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ที่มีอยู่ในแต่ละแห่งมารวมกันและวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของ SMEs ได้ลึกมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ชัดเจน ตรงกลุ่มและความต้องการ ทั้งในด้านการสนับสนุนทางด้านการเงินและองค์ความรู้ และสร้าง Platform ที่ทำให้ SMEs เข้าถึงบริการของสถาบันการเงินของรัฐได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และใช้กลไกของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการเชื่อมโยงสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้อีกด้วย
2.กลุ่ม Smart Utilities ประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงานและน้ำ ได้นำเสนอโครงการ Smart Utilities เป็นการนำข้อมูลในลักษณะของ Big Data ด้านพลังงาน ไฟฟ้า และน้ำประปา มาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนและการวางแผนการผลิตไฟฟ้าและนำประปาให้มีคามครอบคลุมและเพียงพอ และเชื่อมต่อระบบและ Applications ที่จะทำให้เกิด One stop services สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ
3.กลุ่ม Travel Port ประกอบด้วย ททท. และรัฐวิสาหกิจขนส่งทาอากาศ ได้นำเสนอโครงการ Travel Port เป็นการนำข้อมูลของหน่วยงานด้านการขนส่งทางอากาศและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้กำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ให้มีความประทับใจในการท่องเที่ยวในประเทศไทย