พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า การใช้ยางพาราในการดำเนินโครงการของส่วนราชการว่า ในปี 2561 มี 5 หน่วยงานที่ยื่นความจำนงใช้ยางพารา ได้แก่ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. กระทรวงกลาโหม 3. กระทรวงคมนาคม 4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5. กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งงบประมาณโดยใช้งบปกติของแต่ละหน่วยงาน และแจ้งข้อมูลภายในวันศุกร์หน้าต่อไป
“นอกจากนี้ ในระยะยาวได้สั่งการให้นำเอาเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปศึกษาในทุกหน่วยงานที่จะเกี่ยวข้องกับการทำถนน เพราะถนนดินซีเมนต์นี้จะนำไปใช้ในเรื่องของการทำซับเบส คือส่วนของด้านล่างของตัวชั้น ไม่ใช่ชั้นผิวถนน ซึ่งทุกผิวถนนสามารถใช้ซับเบสนี้ได้ เพราะสามารถเพิ่มปริมาณได้ถึง 12 ตัน นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการทดสอบแล้ว 6 เดือนผลการทดสอบใช้ได้ถึง 18 ตัน ต่อ 1 กิโลเมตร"พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการพิจารณาชนิดของผลิตภัณฑ์ยางที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ มีทั้งสิ้น 23 รายการ อาทิ ถุงฝายยาง แผ่นยางรองคอสะพาน ยางกันชนท่าเรือ ท่อยางดูดน้ำและส่งน้ำ แผ่นยางซึม ยางขวางถนนจำกัดความเร็ว ยางปูพื้น ยางปูพื้นลู่วิ่งลานกรีฑา เป็นตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีมอก.แล้วทั้งสิ้น 22 รายการ และมี มอก.พร้อมราคากลางสำนักงบประมาณ จำนวน 1 รายการ รวมทั้งยังไม่มีมอก. 1 รายการ
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ได้มีการสรุปการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค. 60) ซึ่งมีจำนวน 9 หน่วยงานยื่นความจำนงใช้ยางพารา ได้แก่ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.กระทรวงกลาโหม 3.กระทรวงคมนาคม 4.กระทรวงศึกษาธิการ 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.กระทรวงสาธารณสุข 7.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 8.กระทรวงมหาดไทย และ 9.กรุงเทพมหานคร มีการใช้ยางพารา รวมปริมาณน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,952.66 ตัน (จากเดิม น้ำยางข้น 20,964.8009 ตัน ยางแห้ง 3,512.0781 ตัน ณ วันที่ 29 มิ.ย. 60) รวมเงินงบประมาณทั้งสิ้น 16,925,626,588.57 บาท