นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 22 ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเริ่มต้นลงมือก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ในวันที่ 21 ธ.ค.60 ซึ่งตนเองจะนำผลสรุปรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายจีนจะรายงานต่อผู้นำของจีนเช่นกัน
ส่วนการก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-ขนาดจิต ระยะทาง 11 กม., ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 ช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ 119 กม.นั้น ที่ประชุมฯ มีความเห็นตรงกันว่าจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา โดยจัดลำดับความสำคัญการออกแบบเพื่อให้การก่อสร้างได้ต่อเนื่อง โดยเป้าหมายแรกจะให้ความสำคัญกับการก่อสร้างในช่วงกรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ก่อน ซึ่งประเมินว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี สำหรับค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ที่ประมาณ 125,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถเปิดการเดินรถในช่วงกรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยาได้สอดคล้องกับการก่อสร้างงานโยธาที่แล้วเสร็จ จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนของสัญญา 2.3 (ระบบราง ไฟฟ้าเครื่องกล จัดหาขบวนรถ และอบรมบุคลากร) ได้เร่งให้คณะทำงานร่วมฯ หาข้อสรุปภายในเดือน มี.ค.61
สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 เส้นทางจากนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อความรวดเร็วและต่อเนื่องได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ฝ่ายไทยจะศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงสร้างเอง โดยจีนจะเป็นที่ปรึกษา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 61 เนื่องจากมีประสบการณ์จากการออกแบบโครงการในระยะแรกแล้ว ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายจีนดูแล้วเพื่อรับฟังความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป ส่วนการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของไทยจากสถานีหนองคายไปยังสถานีเวียงจันทน์ของ สปป.ลาวนั้น ฝ่ายจีนรับไปศึกษาออกแบบ โดยจะมีการหารือร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย-ลาว-จีน
ส่วนของกระบวนจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น สนข.ได้ชี้แจงข้อมูลไปหมดแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาในแนวเส้นทางช่วงผ่านแก่งคอยซึ่งเป็นพื้นที่เหมืองปูน ซึ่งช่วงดังกล่าว สผ.ได้เคยอนุมัติ EIA ให้กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไปแล้ว
ส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงนั้นภายในเดือน ธ.ค.60 ฝ่ายจีนจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรถไฟความเร็วสูงมาทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม โดยจะกำหนดแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ครอบคลุมใน 3 ประเด็น คือ 1.การศึกษา ซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไทยไปศึกษาความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่ระดับเทคนิคและปริญญา 2.การฝึกอบรม ทั้งมิติเทคนิคและวิศวกรรม รถไฟความเร็วสูง 3. ฝึกงานจริง ทั้งการขับรถและบำรุงรักษา