ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ช็อปช่วยชาติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช็อปช่วยชาติ" การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันว่าดีขึ้นหรือยัง เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (2559) พบว่า ประชาชน ร้อยละ 1.76 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ร้อยละ 24.96 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.36 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีขึ้น ร้อยละ 28.40 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลย ร้อยละ 19.68 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยแย่กว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 4.32 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ / เฉย ๆ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช็อปช่วยชาติ" โดยให้นำรายจ่าย จากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.64 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2560 รองลงมา ร้อยละ 26.08 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ร้อยละ 15.76 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะคนที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ร้อยละ 15.36 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ไม่สนใจ ร้อยละ 7.44 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ร้อยละ 7.12 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะเป็นการกระตุ้นให้ร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยาก เข้าสู่ระบบในอนาคต ร้อยละ 6.88 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าชุมชน จะไม่ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 1.76 เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ต่างอะไรจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 0.80 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีรายสูง ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้เพิ่มวงเงินส่วนที่นำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเพิ่มระยะเวลาในการช้อปช่วยชาติให้มากกว่านี้ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการไปช็อปช่วยชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.36 ระบุว่า ไม่ไป เพราะมีรายจ่ายประจำเดือนอยู่แล้ว คิดว่าไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ คิดว่าไม่ได้เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุล ลดหย่อนภาษีได้ไม่มากพอ ไม่ได้เกิดผลอะไรเท่าที่ควร ระยะเวลาช็อปช่วยชาติน้อยเกินไป เป็นมาตรการที่ทำให้ประชาชนเกิดกิเลสกับสินค้าที่ลดราคาในช่วงนั้น ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเงินไปซื้อ ไม่ได้อยู่ในคุณสมบัติที่ต้องจ่ายภาษี ห่างไกลจากบ้านมาก ไม่สะดวก ส่วนใหญ่ซื้อของในหมู่บ้านมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 41.12 ระบุว่า ไป เพราะ ต้องไปใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งของที่จำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว และได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย เป็นโครงการที่ช่วยชาติดีมาก จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น สินค้าราคาถูก มีการลดราคาสินค้าช่วยลดภาษีได้เยอะ และร้อยละ 13.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ