"ฟิทช์ เรทติ้งส์" คงอันดับเครดิต ธ.ก.ส. ที่ระดับสูงสุด 'AAA(tha)' / 'Stable' ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 สะท้อนฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ และความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรสมัยใหม่และการเกษตรยั่งยืน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธ.ก.ส. โดยคงอันดับเครติดภายในประเทศระยะยาว (National Long - Term Rating) อยู่ที่ระดับ AAA (tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ Stable และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short - Term Rating) ที่ F1+(tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นอันดับเครดิตที่สูงสุดสำหรับการจัดอันดับเครดิตในประเทศ สะท้อนถึงระดับความสามารถสูงสุดในการชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนด และมีความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อ ธ.ก.ส. ในด้านการลดต้นทุนทางการเงินเพื่อนำไปใช้สนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศได้เพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของ ธ.ก.ส. ฟิทช์ระบุว่า ธ.ก.ส. มีบทบาทสำคัญในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งของธนาคารและการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดจึงมีสถานะทางกฎหมายเป็นธนาคารของรัฐที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต เช่น การเพิ่มเงินทุนให้กับธนาคาร และยังมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารหากมีความจำเป็นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในระดับที่จำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “ปัจจัยที่ ฟิทช์ นำมาพิจารณาจัดอันดับเครดิตของธนาคารในระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีให้กับ ธ.ก.ส. อย่างต่อเนื่อง และความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในฐานะผู้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศแล้วนั้น การจัดอันดับเครดิตนี้ ยังสะท้อนถึงการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีระบบ นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจัดการต้นทุนทางการเงิน และยังมีมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อและการให้บริการทางการเงินที่ทันสมัย ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร สู่เกษตรสมัยใหม่และการเกษตรยั่งยืน" นายอภิรมย์ กล่าว