นายยุทธนา หยิมการุณ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังได้ทำแผนการตรวจการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการเก็บภาษีและการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากที่สุด โดยการเก็บภาษีสำหรับปีงบประมาณ 2561 นั้น กรมสรรพากรมีเป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่ 1.9 ล้านล้านบาท, กรมสรรพสามิต 6 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย โดยในเดือน ต.ค.60 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 นั้น พบว่ากรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญการเก็บภาษีของกรมสรรพากร โดยกำชับให้เร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อขยายฐานการเก็บภาษีให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือภาษีอีคอมเมิร์ซ ที่มีปัญหาต้องเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ทำให้การออกกฎหมายล่าช้า ส่งผลให้การเก็บภาษียังมีช่องโหว่รั่วไหลและอาจจะทำให้การเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
"กระทรวงการคลังสนับสนุนกรมภาษีเรื่องการขยายฐานภาษีอย่างเต็มที่ ทั้งงบประมาณ และอุปการณ์เทคโนโลยี รวมถึงการผลักดันการออกกฎหมาย เพื่อให้เก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ปลัดกระทรวงการคลังให้ความสำคัญอย่างมาก" นายยุทธนา กล่าว
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังยังให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่กำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ได้ตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่าต้องได้ 95% เนื่องจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนสูงถึง 5 แสนล้านบาท
สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 2560 ยังล่าช้า โดยภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 70% ของงบลงทุนเท่านั้น เนื่องจากมีงบลงทุนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายล่าช้าได้ 50-60% ของงบที่ได้รับการอนุมัติไว้ ทำให้ดึงภาพรวมของการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจไปด้วย เนื่องจาก รฟท.เป็น 1 ใน 15 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนงบลงทุนถึง 90% ของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
"ได้กำชับให้ สคร. กำกับดูแลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ ครม.เห็นชอบไว้ โดยให้วัดผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ทั้งในเชิงปริมาณ คือให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลกำหนด และเชิงคุณภาพ คือเงินลงทุนช่วยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างคุ้มค่าเงิน"นายยุทธนา กล่าว
สำหรับการตรวจการดำเนินงานของหน่วยราชการกระทรวงการคลังนั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจในเดือน ธ.ค.60 ซึ่งไม่ใช่เป็นการเดินทางไปตรวจเยี่ยม แต่จะเป็นการตรวจการทำงานว่าแต่ละหน่วยงานมีปัญหาอุปสรรคอะไรที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปช่วยแก้ไข เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่หน่วยงานทำสัญญาไว้กับกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะการเก็บภาษี และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. กระทรวงการคลังได้เชิญหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อมูลรายละเอียดแผนงาน, โครงการของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุมชี้แจงทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 การตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กำหนดให้มีการตรวจราชการใน 3 ลักษณะ กล่าวคือ
1. การตรวจราชการตามภารกิจ (Functional) ประกอบด้วย
- การตรวจติดตามการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
- การตรวจติดตามการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ตามนโยบายของท่านปลัดกระทรวงการคลัง 11 ด้าน
2. การตรวจราชการมาตรการ/แผนงาน/โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง (Flagship) เป็นการตรวจติดตามผลการดำเนินงานมาตรการ/แผนงาน/โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง รวมถึงตรวจติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้เสนอแนะไว้เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2560
3. การตรวจราชการแบบบูรณาการ เป็นการตรวจติดตามมาตรการ/แผนงาน/โครงการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561)