โรงงานยาสูบวอนคลังทบทวนโครงสร้างภาษีอีกรอบ โอดโดนผลกระทบหนักจากภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 27, 2017 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงานยาสูบ เปิดเผยถึงผลกระทบภายหลังจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ว่า กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐและโรงงานยาสูบ อีกทั้งเป็นช่องทางให้บุหรี่ต่างประเทศลดราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้บุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบมียอดจำหน่ายลดลง ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากโรงงานยาสูบ โดยคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2561 รัฐจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่างๆ เป็นมูลค่ากว่า 12,725 ล้านบาท ได้แก่ รายได้ที่โรงงานยาสูบนำส่งรัฐ ค่าแสตมป์ยาสูบ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่น (มหาดไทย) ภาษีเงินได้ชำระแทนผู้ประกอบการค้า ภาษีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (กกท.) และเงินสนับสนุนสร้างสวนป่าเบญจกิติ

พร้อมระบุว่า ผลพวงจากการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบจำนวนมาก นับตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบกว่า 20,000 ครัวเรือน ที่สูญเสียรายได้จากความต้องการใบยาสูบลดลง รวมไปถึงประชาชนผู้ประกอบการร้านค้ายาสูบทั่วประเทศอีกกว่า 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและต้นทุนที่สูงขึ้น หากเกิดสภาวะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อองค์กรของรัฐและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากรายได้และภาษีที่รัฐได้รับน้อยลง ทำให้แผนการย้ายโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่เพื่อสร้างสวนป่าเบญจกิติ เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวว่า คณะผู้บริหารโรงงานยาสูบมิได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางรับมือกับผลกระทบต่างๆ เพื่อให้กิจการของโรงงานยาสูบสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี ขณะนี้โรงงานยาสูบไม่รู้ว่าจะปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานไม่สามารถปรับลดราคาบุหรี่ให้ต่ำกว่าซองละ 60 บาทได้ เพราะจะเป็นการขายขาดทุน อีกทั้ง พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่สามารถโฆษณาได้ ทำให้การทำการตลาด หรือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเรื่องยาก จึงต้องการให้กระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ทบทวนกฎกระทรวงเกี่ยวอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่ให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"เราจำเป็นต้องเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาทบทวนโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ และศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้านครบทุกมิติ ตลอดจนผลดี ผลเสีย และความเสียหายต่อประเทศชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐเองที่จะต้องสูญเสียรายได้เป็นมูลค่ามหาศาล จนทำให้บุหรี่ต่างประเทศสามารถครอบงำตลาดบุหรี่ในประเทศไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ และทำลายโรงงานยาสูบซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่สร้างรายได้ให้รัฐนำไปพัฒนาประเทศมายาวนานกว่า 78 ปี" น.ส.ดาวน้อยกล่าว

พร้อมระบุว่า หากไม่มีการทบทวนภาษีสรรพสามิตใหม่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งหลังจากกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ยอดผลิตในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านมวน ลดลงจากปี 2560 ที่ 2.8 หมื่นล้านมวน และคาดว่าในปี 2562 จะเหลืออยู่ที่ 8.5 พันล้านมวน ส่งผลให้คาดว่าจะขาดทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี โดยในปี 2561 คาดว่าจะคาดทุน 1.57 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายจากการนำไปดูแลสวนป่า 500 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ 400 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นการดูแลโรงพยาบาลยาสูบ

อย่างไรก็ดี โรงงานยาสูบมองว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่เป็นการเปิดโอกาสให้บุหรี่ต่างประเทศบางยี่ห้อได้รับประโยชน์ โดยสามารถลดราคาขายได้ ซึ่งภายหลังจากใช้กฎหมายใหม่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบ ลดลงเหลือ 65.92% จากปี 2560 อยู่ที่ 80% ขณะที่สัดส่วนการตลาดของบุหรี่ต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 32.53% ซึ่งขัดแย้งกับหลักการกฎหมายที่ต้องการให้ขึ้นราคาเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ