นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบทิศทางการพัฒนาภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์เสนอ
เนื่องจากภาพรวมของพื้นที่ภาคใต้มีทรัพยากรหลากหลาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ระบบนิเวศน์ชายฝั่ง แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ แหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ขณะที่มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ BIMSTEC แต่ปัญหาเรื่องท่องเที่ยวยังมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางทะเลบางแห่ง เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
ทั้งนี้ตามแผนฯ 12 กำหนดให้มีการพัฒนา 1.แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยจะมีการส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่อง การส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ให้เป็น Smart City การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ 2.พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันที่หาดใหญ่-สะเดา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City) 3.พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการผลิตแบบผสมผสาน 4.การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา เพื่อเชื่อมกับถนนสาย royal coast ทางภาคกลาง, การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน, การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงด้านเหนือ-ใต้ของฝั่งอันดามัน
นายณัฐพร กล่าวว่า ในการประชุม กรอ.จังหวัดมีข้อเสนอหลายเรื่องที่สอดคล้องกับแผนงานที่กระทรวงคมนาคมกำลังจะดำเนินการ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์, การก่อสร้างรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงา, ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกที่ระนอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องไปพิจารณา โดยให้คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และความคุ้มค่าของการดำเนินงาน
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงโครงข่ายทางทะเล โดยพัฒนาท่าเรือสำราญฝั่งอ่าวไทยที่สมุย และฝั่งอันดามันที่กระบี่, การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 1-2 และให้สภาพัฒน์หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานเชื่อมสตูล-เปอร์ลิส
ส่วนการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินเพื่อเชื่อมโครงข่ายทางบกและทางรางนั้น นายกรัฐมนตรีให้จัดลำดับความสำคัญและพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในอนาคต