นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวในการสัมมนา"การพัฒนา การกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ : คำตอบการดูแลสมบัติของชาติ"ว่า ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูและบริหารรัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมีเนื้อหาเน้นเรื่องการกำกับดูแล และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเน้นการปฏิรูปองค์กรรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยเน้นหลัก “PPPO" ซึ่ง P ตัวแรก คือ Purpose หรือ วัตถุประสงค์การดำเนินงาน โดยองค์กรจะต้องยึดมั่นและดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้
สำหรับ P ตัวที่สอง คือ Participation หรือการมีส่วนร่วมในการทำงานของฝ่าย หรือหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กรนั้น รวมทั้งมีการดำเนินงานที่สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน และ P ตัวสุดท้าย คือ Principle หรือการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่องค์กรได้วางไว้อย่างเคร่งครัด
นายประสาร กล่าวว่า ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเมื่อทำการวัดผลเชิงประสิทธิภาพ พบว่าองค์กรของรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรนั้นส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจผูกขาด ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการแข่งขันส่วนใหญ่มักจะขาดทุน ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากการขาดหลัก PPPO ที่ได้กล่าวไปข้างต้น
นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงหลักสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ช่วยให้การบริหาร และการใช้ทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการต่อมา คือ การจัดรูปแบบหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย “เจ้าของ" อย่างเหมาะสม จะช่วยให้หน่วยงานนั้นๆ ไม่มีการทุจริต หรือมีการทุจริตน้อยลง และยังทำให้เกิดความตระหนักในการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร
นอกจากนี้ ยังรวมถึงเรื่องของระบบธรรมาธิบาล เพื่อให้การบริหารงานภายในองค์กรนั้นๆ มีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และประการสุดท้าย คือ การกำกับดูแลด้วยกลไกตลาด เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่บิดเบือนความจริง ซึ่งถ้าหากไม่มีกฏหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจะทำให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งจะฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ
ทางด้านนายระพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะกรรมการ คนร.กล่าวว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบ และมีการตราเป็นกฏหมาย เนื้อหาที่อยู่ภายในกฏหมายฉบับนี้จะไม่สามารถไปขัดแย้งหรือครอบงำกฏหมายฉบับอื่นๆ ได้ และภายในกฏหมายฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่ของ ครน.ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าหาก ครน.กระทำผิดหน้าที่ก็จะต้องรับโทษตามกฏหมาย ทั้งยังเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในส่วนนี้ได้มีการกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ร่างกฏหมายจะมาจากกลุ่มตลาดทุน ซึ่งจะเน้นการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ โดยที่รัฐวิสาหกิจในแต่ละแห่งจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล และการทำงานของตนทั้งหมด และประการสุดท้าย คือ รัฐวิสาหกิจห้ามกระทำการอื่นใด นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในแผนการดำเนินงาน ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแผนการใดๆ จะต้องมีการประเมินค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ นายบรรยง พงษ์พาณิช อดีตกรรมการ คนร.กล่าวในตอนท้ายว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสำคัญต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศอีกด้วย พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ นายบรรยง ตอบข้อกังวลของสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.นี้หลายคำถาม อาทิ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการรวมศูนย์เพื่อกินรวบหรือไม่ เป็นต้น นายบรรยง ระบุว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการกำกับด้วยกลไก Governance สากลที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐาน สร้างความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ จึงไม่มีข้อกังวลในเรื่องดังกล่าว
ส่วนการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคตนั้น นายบรรยง กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าหากจะมีการแปรรูปเกิดขึ้น คาดว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยให้การแปรรูปสามารถทำได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้อีกด้วย