นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ส่งออกใช้ช่องทางจับมือผู้นำเข้าหรือสมาคมผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผลักดันสินค้าไทยชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ หลังตลาดขยายตัวเนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าจำพวกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว มะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ธัญพืชและผลไม้อบแห้ง ชาสมุนไพร มีโอกาสสูง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ไทยในสหรัฐฯ ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การบริโภคสินค้าปลอดสารพิษ การให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และยังพบแนวโน้มใหม่ที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นิยมสั่งซื้อวัตถุดิบไปทำอาหารบริโภคในบ้าน โดยเน้นวัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น จากการที่ผู้จำหน่ายรายใหญ่ได้หันมาให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และขยายตัวของการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำให้สามารถสั่งซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ และขนมขบเคี้ยวทำจากข้าวหอมมะลิ เป็นต้น กลุ่มมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าว นมพร้อมดื่มจากมะพร้าว กะทิ น้ำมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว และขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าว เป็นต้น กลุ่มธัญพืชและผลไม้อบแห้ง เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้ง เนยถั่ว ผักและผลไม้อบแห้ง เป็นต้น และกลุ่มชาสมุนไพร เช่น ชาขิง ชาสะระแหน่ ชาตะไคร้ เป็นต้น
นางจันทิรา กล่าวว่า ช่องทางการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผู้ส่งออกจะต้องร่วมมือกับผู้นำเข้า หรือสมาคมผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดผู้บริโภค เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และแสวงหาผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพในเขตพื้นที่ตลาดเป้าหมาย เพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งผู้ส่งออกสามารถที่จะขอรับคำปรึกษากับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้
นอกจากนี้ยังต้องศึกษาข้อมูลลักษณะพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มักจะอยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว มีสมาชิกครอบครัวไม่มาก จึงนิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์หีบห่อขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่เกินไป และที่สำคัญจะต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ และมีมาตรฐานตามที่สหรัฐฯ กำหนด เพราะองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีความเข้มงวดอย่างมากในการตรวจสอบอาหารนำเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งต้องศึกษาการนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ เพื่อแนะนำสินค้า เช่น งาน Americas Food and Beverage Show และงาน Natural Expo West เป็นต้น
ปัจจุบันสินค้าอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ และมีศักยภาพในการทำตลาดสูงมาก ก็คือ น้ำมะพร้าว แต่เริ่มมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวโดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยอาจจะพิจารณานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต เน้นการสร้างเรื่องราวความน่าสนใจให้กับสินค้าเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ถัดมาเป็นเครื่องดื่มขมิ้นชันที่เริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการอักเสบของร่างกายได้ ซึ่งการทำตลาดควรควบคุมคุณภาพไม่ให้มีโลหะหนัก โดยเฉพาะสารตะกั่วเจือปนเกินกำหนด และน้ำผลไม้ทรอปิคอล เช่น น้ำทับทิม น้ำมังคุด และชาหมัก น้ำผึ้งหมัก ที่มีแนวโน้มและโอกาสทางการตลาดมากขึ้น