นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัว 9.2% ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงที่ใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยในการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินการลงทุน และเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาส 4/60 เพื่อจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า เพื่อให้การลงทุนรัฐวิสาหกิจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจไปดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับปรุงแผนและประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุนให้สะท้อนกับความสามารถในการเบิกจ่ายได้ตามจริง โดยให้คำนึงถึงการเบิกจ่ายที่เป็น Front-Loaded และการเบิกจ่ายที่ไม่เป็นไปตามแผนในปี 60 ที่จะต้องผูกพันมาเบิกจ่ายในปี 2561 2.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบงบลงทุน ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 3.ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของการเบิกจ่ายงบลงทุนในการประเมินผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
รวมทั้งกำชับให้รัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในระยะเวลาที่เหลืออีก 1 เดือนของปี 60 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย และให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งทางการเงินปรับแผนการพัฒนากิจการในเชิงรุกเพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณได้ทั้งสิ้น 84% หรือคิดเป็นวงเงิน 2.8 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 95%
"รองนายกฯ สมคิดให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.2% เพราะการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวได้ 10% และเศรษฐกิจ 3 ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้ 3.8% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนขยายตัวได้ถึง 9.2% โดยในปีงบประมาณ 2561 เชื่อว่ากรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะขยายตัวได้อย่างน้อย 40%"นายเอกนิติ กล่าว
ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. ระบุว่า ในปี 61 การลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะยังคงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 61 เท่ากับ 796,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อน โดยกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลของ สคร.จำนวน 45 แห่ง เท่ากับ 506,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อน ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บมจ. ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2561 โดยระบุว่า ได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนเดือนสุดท้ายของปี 2560 ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายล่าช้า เพราะจะเป็นตัวชี้วัดการทำงานผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2561 ก็ให้เร่งทยอยเบิกจ่ายงบตั้งแต่ต้นปี ไม่ให้ไปเบิกจ่ายในช่วงท้ายปี โดยรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่เชื่อว่าเมื่อมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเดิมได้แล้ว ก็ให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้เร็วขึ้น ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง เช่น บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ก็ให้เร่งลงทุนเพราะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวขนส่งของไทยอย่างมาก
สำหรับการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 1.7 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยทั้ง 2 หน่วยงานพร้อมจะประสานความร่วมมือกัน ซึ่งกรมบัญชีกลางจะได้ออกระเบียบการใช้เงินโดยมีการผ่อนผันให้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยจะดำเนินการเบิกจ่ายให้ได้ 4 เดือน
"เชื่อว่า 4 เดือน น่าจะดำเนินการเบิกจ่ายงบของ อปท.ได้ โดยแต่ละแห่งก็ต้องไปคิดโครงการมา เช่น โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่น การพัฒนาในส่วนต่าง ๆ จะเป็นโครงการเก่าหรือใหม่ก็ได้ให้เสนอเข้ามา แล้วก็จะให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณจากทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาทเป็นล็อต ๆ โดยเป้าหมายของรัฐบาลจากนี้คือการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง" นายสมคิด กล่าว