นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเพิ่มศักยภาพโครงข่ายการบริหารท่าอากาศยานของประเทศไทยว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เกี่ยวกับแนวทางการบริหารสนามบินทั่วประเทศ 39 แห่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และรองรับผู้โดยสารได้เต็มที่
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สนข.นำข้อมูลการศึกษาแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคของ ทย.ไปวิเคราะห์ปัญหาการให้บริการ ความเพียงพอในการรองรับผู้โดยสาร การทำการตลาด ภาพรวมการลงทุนในอนาคต สถานะทางการเงิน และรูปแบบการบริหารจัดการ โดยให้เวลา 1 เดือน ซึ่งในส่วนของ ทอท.มีแผนพัฒนาสนามบินของตัวเอง 6 แห่ง ซึ่งสามารถใช้เงินทุนหรือระดมมาดำเนินการได้ ขณะที่ ทย.มีแผนพัฒนาสนามบิน 28 แห่ง ในช่วง 10 ปี วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทนั้นจะใช้งบประมาณดำเนินการ ซึ่งในปี 2561-2563 ได้ทำแผนขยายอาคารผู้โดยสาร สนามบินกระบี่และขอนแก่นไว้แล้ว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนามีความรวดเร็วขึ้น ทางธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้เข้ามาช่วยศึกษาแผนทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระทางงบประมาณแล้ว ยังทำให้สามารถพัฒนาได้เสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสของสนามบินและการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 3 เดือนนี้
เบื้องต้น ทอท.พร้อมรับบริหารสนามบินของ ทย. ซึ่งเห็นตรงกันว่าควรเป็นสนามบินที่จังหวัดอุดรธานีและตาก เพื่อเติมเต็มเครือข่ายด้านตะวันตกและอีสาน กระจายความแออัดออกจากสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดย สนข.จะต้องประเมินข้อดีข้อเสียและภาระการลงทุน เพื่อหารูปแบบการบริหารที่เหมาะสมในแต่ละสนามบิน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของสนามบิน ทย.ยังมีภารกิจด้านความมั่นคง และด้านสังคมอยู่ด้วย ขณะที่ ทอท.จะเน้นไปที่กำไรมากกว่า ดังนั้นรูปแบบการบริหารนอกจากการโอนหรือให้สิทธิ์แล้วยังมีการทำงานร่วมกัน ทำการตลาดร่วมกันก็ได้ ซึ่งรัฐอาจจะยังคงต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและให้ ทอท.รับบริหารโดยทำสัญญาตกลงกัน เป็นต้น
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.เสนอขอบริหารสนามบิน ทย.จำนวน 15 แห่ง เพราะเห็นว่าควรมีสนามบินหลักและสนามบินรองด้วย เพื่อกระจายเที่ยวบิน และเห็นว่าการเป็นผู้บริหารรายเดียวจะทำการตลาดได้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การหารือเบื้องต้นตรงกันในประเด็นการเติมเต็มโครงข่ายภาคตะวันตกและอีสาน ซึ่งสนามบินจังหวัดอุดรธานีสามารถใช้เป็นฮับการบินเชื่อมเส้นทางไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องทำเที่ยวบินเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการบริหารนั้นหากเป็นการจ้าง ทอท.บริหาร ไม่ได้สิทธิ์หรือโอน ต้องมาดูเรื่องการลงทุน และระยะเวลาสัญญาจ้างที่เหมาะสมด้วย เช่น หากจ้างบริหารระยะ 15 ปี แต่ ทอท. ต้องลงทุนหลายหมื่นล้านบาทก็อาจจะไม่คุ้มและตอบคำถามผู้ถือหุ้นไม่ได้ ดังนั้นรัฐอาจจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน