นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า บตท. ได้เสนอขายพันธบัตร บตท. ครั้งที่ 1/2560 มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี (ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563) อัตราดอกเบี้ย 2.15% ต่อปี เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน และ/หรือนักลงทุนรายใหญ่ โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย กำหนดออกพันธบัตรวันที่ 29 พ.ย.60 โดยวัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรครั้งนี้ เพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่ครบกำหนด ตลอดจนนำไปใช้ในการดำเนินธุรกรรมการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ บตท.
การเสนอขายพันธบัตรครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนแสดงความจำนงจองซื้อพันธบัตรมากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงประมาณ 2.6 เท่า ในช่วงการ bookbuild เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักลงทุนที่แสดงความสนใจ มีทั้งนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในตราสารของ บตท.มาก่อน, นักลงทุนเดิมที่ร่วมลงทุนในพันธบัตร บตท.รุ่นก่อนๆ อย่างสม่ำเสมอ และนักลงทุนที่ให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตร บตท.เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากที่เคยลงทุนเฉพาะในหุ้นกู้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities) ของ บตท.
"พันธบัตรได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.60 ที่ระดับ AA- / Stable Outlooks ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตขององค์กร เช่นเดียวกับพันธบัตรรุ่นที่ผ่านๆ มา" นางวสุกานต์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในอนาคต บตท. มีแผนจะจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันที่มิใช่ธนาคาร แต่จะพิจารณาถึงการทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เช่น การเคหะแห่งชาติ เป็นการเอาจุดแข็งของ บตท.ในการจัดหาเงินทุนระยะยาวมาช่วยหล่อลื่นการขยายตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยออกตราสารหนี้ที่เรียกว่า Asset-Backed Securities หรือ ABS เพื่อเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนไทย ตามวิสัยทัศน์ บตท.ที่กำหนดไว้ว่า เป็นกลไกในการจัดหาเงินทุนระยะยาว รองรับการขยายตัวของระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในปีหน้า
อย่างไรก็ดี จากผลของการแก้ไขกฎหมาย บตท.ที่ผ่านมา ต่อไปขอบเขตการทำธุรกรรมของ บตท.ก็จะกว้างขวางขึ้นอีก โดยจะสามารถขยายไปถึงกลุ่มผู้ทำธุรกิจให้สินเชื่อในรูปแบบให้จำนองที่อยู่อาศัย ให้เช่าซื้อ และให้เช่าแบบลิซซิ่ง ซึ่งยังจะต้องมีการพิจารณาหารูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไป